xs
xsm
sm
md
lg

”ปชน.-ภาค ปชช.“ พร้อมใจสกัด กสทช.ประมูล 4 คลื่นโทรคมนาคมรอบใหม่ ซัดมุ่งเอื้อ “นายทุนใหญ่“

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สส.พนิดา” ชง 4 ข้อจี้ กสทช.ทบทวนประมูลคลื่นความถี่ ที่ส่อเอื้อรายใหญ่-กีดกันรายใหม่ ชาติเสียผลประโยชน์ชาติ ด้าน “สภาฯผู้บริโภค“ ยื่นหนังสือค้านประมูลภึงนายกฯ หวัง อย่างน้อยออกมาตรการรองรับหากกระทบผู้บริโภค หนุนคงตลื่นให้ NT ใช้ต่อเพื่อบริการสาธารณะ

จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดให้สีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 4 ย่านหลัก ได้แก่ 850 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz (เฉพาะที่จะสิ้นสุดปี 2568 ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT) และ 2300 MHz ในวันที่ 29 มิ.ย.68 นี้

น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน ได้แสดงความกังวลถึงความไม่โปร่งใส และไม่เหมาะสมของการตั้งราคาประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่าน โดยระบุว่า ราคาตั้งต้นของคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับราคาตลาด และรายจ่ายของ NT ในปัจจุบัน สุ่มเสี่ยงทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก โดยไม่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะเสียค่าบริการที่ถูกลง หรือคุณภาพบริการที่ดีขึ้น

“การประมูลครั้งนี้ถูกตั้งเงื่อนไขเพื่อเอื้อนายทุนใหญ่รายเดิม ปิดกั้นผู้เล่นรายใหม่อย่างสิ้นเชิงด้วย การตั้งราคาประเมินของแต่ละคลื่นความถี่ว่า ใช้วิธัการคำนวนที่ไม่โปร่งใส ไม่มีการคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งการเปิดประมูลในสภาพตลาดที่เหลือผู้เล่น หรือผู้ประกอบการหลักเพียง 2 ราย ซึ่งอาจทำให้ไม่มีการแข่งขันจริง”

น.ส.พนิดา กล่าวด้วยว่า เพื่อความโแร่งใส แลัคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ พรรคประชาชน จึงขอเสนอ 4 แนวทาง ดังนี้ 1.ทบทวนราคาตั้งต้นให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง การประมูลรอบนี้แทบไม่ได้เป็นการประมูลอยู่แล้ว เนื่องจากบริษัทโทรคมนาคมจะแบ่งคลื่นกันตามที่เคยเช่าใช้และไม่แข่งกันบิดราคาอยู่แล้ว ดังนั้น ราคาตั้งต้นจะเป็นราคาที่ชนะประมูล ถ้าราคาตั้งต้นต่ำเกินไป เท่ากับรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จะลดลงด้วย

2.กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทสะท้อนต้นทุนลดลงในค่าบริการ หาก กสทช. ไม่สามารถปรับราคาตั้งต้นให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้ ก็ควรมีเงื่อนไขผูกพันว่า เมื่อค่ายมือถือประหยัดต้นทุนจากค่าประมูลที่ต่ำลงแล้ว ต้องนำต้นทุนที่ลดลงไปสะท้อนในค่าบริการแก่ประชาชน

3.วางแผนการบริหารคลื่นเพื่อเปิดทางให้ผู้เล่นใหม่ หากประมูลคลื่นความถี่ไปแล้ว ทั้งรายใหม่และเก่าจะต้องขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการ ให้ได้ตามเป้าหมาย

และ 4. เปิดเผยข้อมูลการประเมินราคาอย่างโปร่งใส

มีรายงานด้วยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 21 เม.ย.68 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอใหกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค รวมถึงการปรับแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคค

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ทั้ครอบคลุมถึง 4 ย่านหลัก มีข้อกังวลว่า หากไม่มีแนวทางรองรับที่เหมาะสม อาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบสื่อสาร โดยเฉพาะภารกิจด้านบริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและสร้างแนวทางที่เป็นธรรม สภาองต์กรของผู้บริโภค จึงขอเสนอให้ นายกรัฐมนตรี สั่งการไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ให้เร่งประสานกับ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ให้กำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุดโดยพิจารณาจากปริมาณและคุณภาพของการให้บริการ, 2. ให้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนในการอนุญาตให้บริษัท NT, ผู้ให้บริการ MVNO หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม, 3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนผู้บริโภค กสทช. บริษัท NT ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการ MVNO เพื่อจัดทำแผนรองรับผลกระทบต่อผู้บริโภคจากกรณีการหมดสัญญาของบริษัท NT

และ 4. ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหาแนวทางสนับสนุนให้บริษัท NT สามารถใช้งานคลื่นความถี่ของ กสทช. ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยจากเหตุการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้บริโภค

ท้ายที่สุด ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับหลักเกณฑ์การประมูลให้เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด และมีกลไกควบคุมคุณภาพบริการหลังการประมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ราคาที่เหมาะสม และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากตลาดที่ขาดความหลากหลาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น