xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายเชาว์” สวน “นรินทร์พงศ์” มีสมาคมไว้ทำไม หรือแค่เพื่อรับใช้ "ทักษิณ" ชี้ปมชั้น 14 วัดกันที่ป่วยวิกฤติหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายเชาว์” โต้ “นรินทร์พงศ์” ชี้ปัญหาชั้น 14 ไม่ได้วัดที่ศักดิ์ของ กม.แต่อยู่ที่ “ป่วยวิกฤติ”จริงหรือไม่ ถามแรง! สมาคมทนายทำอะไรเพื่อชาวบ้าน หรือมีไว้รับใช้แค่ “ทักษิณ”

วันนี้(15 พ.ค. 68 ) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงบทบาทของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยว่า “สมาคมทนาย…ทำอะไรเพื่อชาวบ้านบ้าง? หรือมีไว้เพื่อรับใช้ทักษิณเท่านั้น”
โดยระบุว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นผ่านเพจของสมาคมฯ ต่อกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่ง ยกคำร้อง ของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. ปชป. ซึ่งขอให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า การที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องโทษจำคุก 1 ปี ได้รับการพาตัวออกจากเรือนจำไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 นั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ศาลฎีกาฯ มีกำหนดนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณาความชอบธรรมของการบังคับโทษ

นายนรินท์พงศ์ให้ความเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นเพียง “ส่วนต่อท้าย” ของ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายฯ ปี 2477 จึงถือว่ามีศักดิ์เท่าเทียมกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และไม่ควรถูกอ้างว่าอยู่เหนือกว่ากัน

ไม่แปลกใจที่นายนรินท์พงศ์จะให้ความเห็นลักษณะนี้ เพราะ “ใช้สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเป็นเกราะกำบังในการตีความรับใช้ทักษิณมาโดยตลอด” พร้อมตั้งคำถามว่า สมาคมทนายมีไว้เพื่อประชาชน หรือเพื่อ “ทักษิณ” กันแน่

“เพราะปัญหาหลักของกรณีชั้น 14 ไม่ได้อยู่ที่การวัดศักดิ์ของกฎหมาย แต่อยู่ที่ ‘ข้อเท็จจริง’ ว่าทักษิณป่วยวิกฤติจริงหรือไม่ และสมควรได้รับการรักษานอกเรือนจำหรือเปล่า”

หากข้อเท็จจริงนี้มีผลกระทบต่อการบังคับใช้คำพิพากษาโดยตรง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงมีอำนาจตามกฎหมายในการไต่สวน เพื่อไม่ให้คำพิพากษากลายเป็นแค่ “เศษกระดาษที่นักโทษมีเส้นสามารถตีตกได้ตามใจชอบ”

โดยอ้างถึงบทบัญญัติต่าง ๆ เช่น มาตรา 89/2, 246, 74, 75 แห่ง ปอ.วิ. อาญา และมาตรา 65 ของ พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีนักการเมือง พ.ศ. 2560 รวมถึงข้อกำหนดปี 2562 ข้อ 61–62 ที่ระบุชัดถึงอำนาจศาลในการควบคุมการบังคับคดี
ข้อ 61 วรรคสอง ระบุว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาสามคน มีอำนาจออกหมายหรือคำสั่งใด ๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล”

และข้อ 62 กำหนดว่า “เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องขอต่อศาลในชั้นบังคับคดี ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อยสามคน เป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องคำขอดังกล่าว”

นายเชาว์ย้ำว่า คนเป็นทนายควรพูดความจริงให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่ “ใช้ความรู้กฎหมายเพื่อบิดเบือน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ชื่อของ “สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย” ออกมาแสดงความเห็นที่เอื้อประโยชน์ต่อนักโทษคนดัง ยิ่งลดทอนเกียรติยศของวิชาชีพและบั่นทอนความน่าเชื่อถือขององค์กร

“สมาคมทนาย ทำอะไรเพื่อชาวบ้านบ้าง?

หรือตลอดเวลาที่ผ่านมา มีไว้รับใช้แค่ ‘ทักษิณ’?”


กำลังโหลดความคิดเห็น