xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง“ทวี”หยุดคุมดีเอสไอ สะเทือนฮั้ว สว.!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง - ภูมิธรรม เวชยชัย
เมืองไทย 360 องศา

แน่นอนว่าคดี “ฮั้วเลือกตั้งส.ว.” ที่กำลังเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในเวลานี้ ย่อมถูกมองว่าเป็นเรื่อง“เกมการเมือง” ระหว่างกัน โดยเฉพาะที่มองว่าเป็นการขับเคี่ยวชิงเหลี่ยมกันระหว่างพรรคการเมืองในรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทย กับภูมิใจไทย โดยต่างฝ่ายต่างมีไพ่ถืออยู่ในมือ โดยฝ่ายพรรคเพื่อไทย มีเครือข่ายกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมที่มีหน่วยงานสำคัญคืออกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เป็นตัวขับเคลื่อนคดีดังกล่าว

ขณะที่อีกฝ่าย มีส.ว.ที่เรียกว่า “สีน้ำเงิน” มีการเคลื่อนไหวผ่านทางนิติบัญญัติ ถือว่าที่ผ่านมามีอำนาจชี้ขาดร่างกฎหมายสำคัญหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายทำประชามติ รวมไปถึงร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่เปิดทางให้มีบ่อนกาสินโน เป็นต้น

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รวมไปถึงการเป็นรองประธานคดีพิเศษ ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้ถูกร้องที่ 1 และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

จากกรณีผู้ถูกร้องทั้งสองมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการ ตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มี ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม อย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

ซึ่งต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบ ฉบับลงวันที่ 7 พ.ค.68 วันที่ 13พ.ค.68 และวันที่ 14 พ.ค.68 ศาลมีรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

สำหรับกรณีปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องเพิ่มเติมของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 14 พ.ค.68 พร้อมเอกสารประกอบ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมี คำวินิจฉัยถึงที่สุด ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า นายภูมิธรรม ผู้ถูกร้องที่1 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่

ส่วนพันตำรวจเอกทวี ผู้ถูกร้องที่ 2 ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มีหน้าที่และอำนาจ ในการสั่งและปฏิบัติราชการในฐานะผู้บังคับบัญชาข้าราชการกระทรวงยุติธรรมอันรวมไปถึงกรมสอบสวน คดีพิเศษ ตามคำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบ ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า พันตำรวจเอกทวี ผู้ถูกร้องที่ 2 มีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงสั่งให้พันตำรวจเอกทวีผู้ถูกร้องที่ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่รมว.ยุติธรรมเฉพาะในฐานะผู้กำกับดูแลกรมสอบสวน คดีพิเศษและรองประธานกรรมการคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัย

ก่อนหน้านี้ มีการออกหมายเรียกสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กับ ส.ว.จำนวน 53 คนเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำผิดการเลือกตั้ง ส.ว.โดยให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้

โดยหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารจำนวน 3 แผ่น ได้ระบุว่ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ 2561 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 36 มาตรา 77 (1) และมาตรา 62 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้สั่งให้ดำเนินการไต่สวนเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏดังกล่าวโดยมอบหมายให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนส่วนกลางคณะที่ 26 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 1107/2568 ลงวันที่ 19 มี.ค. 2568 และตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 1581/2568 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2568 เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการไต่สวน

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาก็มีการตอบโต้ย้อนศรกลับมาเหมือนกันของ ฝ่าย สว. นั่นคือไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) เพื่อให้เอาผิดกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ กกต. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และยังร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องความผิดด้านจริยธรรมอีกด้วย และล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ พ.ต.อ.ทวี หยุดปฏิบัติหน้าที่ในการคุมดีเอสไอ และหยุดการเป็นรองประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ

จะเห็นว่างานนี้ “เล่นกันแรง” เพราะฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังกรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ) ดำเนินคดีกับ สว.ตั้งแต่เบอร์ 1 เบอร์ 2 ลงมา คือตั้งแต่ประธานวุฒิสภา คือ นายมงคล สุระสัจจะ และ พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และ สว.อีกเกินครึ่งร้อย

เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของคดีแล้วก็พอมองเห็นว่าทางฝ่ายดีเอสไอ กำลังเร่งรัดดำเนินคดีไปอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าหากเป็นแบบนี้อีกไม่นานก็อาจปิดคดีและส่งคำร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งหากไปถึงขั้นนี้จริงก็ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะหากศาลรับคำร้องก็อาจสั่งให้ สว.ที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าวต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเมื่อดูจำนวน สว.แล้วมีจำนวนมาก อาจมีผลต่อการทำหน้าที่ของวุฒิสภา ในการลงมติในเรื่องสำคัญตามมาได้

แต่อย่างไรก็ดี การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หยุดปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลดีเอสไอ และให้หยุดการเป็นรองประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ย่อมส่งผลต่อคดี “ฮั้ว สว.” ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แน่นอน เพราะอย่างที่รับรู้กันดีว่าคดีดังกล่าว ถูกมองว่ามีแรงจูงใจทาง “การเมือง” ทำให้หลายอย่างต้องสะดุดลง ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งทำให้เห็นว่านาทีนี้ฝ่าย สว.เริ่มตีโต้กลับได้แล้ว เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ย่อมทำให้หน่วยงานราชการอย่างดีเอสไอ มีอาการ “แหยง” ได้บ้างเหมือนกัน เพราะยังมีชนักใน ป.ป.ช.ที่ถูกยื่นคำร้องคาเอาไว้เหมือนกัน

ดังนั้น แม้ว่าในทางคดีกว่าจะถึงที่สุด ยังต้องลากกันไปอีกพักใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หยุดคุมดีเอสไอ และหยุดเป็นรองประธานคดีพิเศษจนกว่าจะมีการคำวินิจฉัยออกมา ถือว่า ทำให้เกิดอาการสะดุด สะเทือนเส้นทางข้างหน้า เพราะยังไม่ทันไรมีความเสี่ยงติดๆกันสองเด้งทั้ง “ชั้น14” ที่ต้องระทึกใจไม่ทันไร ต้องมาเจอกับคดีฮั้ว ที่เพิ่งออกตัวแรง ไปได้ไม่นานก็ทำท่าจะยุ่งเสียแล้ว !!



กำลังโหลดความคิดเห็น