พรุ่งนี้วันสุดท้ายเปิดฟังความเห็น ร่างประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี “กําหนดสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ” ถามย้ำ 3 ข้อ “หากไม่ให้ขายถาวร-ยกเว้นเฉพาะกิจกรรมพิเศษ” หลังบอร์ดควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตีกลับช่วงก่อนสงกรานต์ ปมขอยกเว้นขายเหล้าเบียร์บริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เหตุข้อมูลยังไม่ชัดเจน แม้ รฟท.เสนอ “ขายเหล้าเบียร์ บนรถไฟ-สถานีรถไฟหัวลำโพง”
วันนี้ (14 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. ....
ภายหลังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีมติให้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้นําเสนอเรื่องดังกล่าว เพื่อนําผลการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาประกอบการจัดทําสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบต่อไป
เป็นการเปิดให้ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้บังคับใช้กฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ แสดงความเห็น
“โดยได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2568 ผ่านระบบสารสนเทศของกรมควบคุมโรค ซึ่งจะครบกำหนดเปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้”
กรมควบคุมโรค แจ้งในหนังสือเวียนถึงหน่วยงานราชการทั่วประเทศศ ว่า ด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือ ที่ รพ.๑/๕๕๕/๒๕๖๗ ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567
ขอให้พิจารณายกเว้นสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
ประกอบกับในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า โดยที่รัฐบาลประกาศนโยบายให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025
“โดยจะได้ส่งเสริมการจัดเทศกาลระดับโลกต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ทั้งในเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และสถานบริการอื่นๆ”
อย่างไรก็ตาม มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับข้อจํากัดทางกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ นักท่องเที่ยว
มติ ครม. 13 กุมภาพันธ์ 2568 จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการแก้ไข และปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอุปสรรคและข้อจํากัดในด้านต่างๆ ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
ต่อมา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้นําเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568
ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พิจารณามาตรการควบคุมสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์บนทางรถไฟ
“โดยเพิ่มข้อยกเว้นการขายในบริเวณที่จัดไว้สําหรับการจัดกิจกรรมพิเศษในโถงสถานีกรุงเทพ (ห้องปรับอากาศ) ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลําโพง) ซึ่งมีมาตรการคัดกรองและมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชน และการจํากัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน”
และในการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างประกาศสํานัก รัฐมนตรี เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. ...
เพื่อปรับปรุงแก้ไขประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. 2558 อันจะเป็นการลดอุปสรรคและข้อจํากัดในด้านต่างๆ และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล
สำหรับ ร่างประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. ....
มีการกําหนดห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟตามกฎหมายว่าด้วยการจัดวางการรถไฟและทางหลวง
“โดยเพิ่มเติม ข้อยกเว้นสําหรับการขายในบริเวณที่จัดไว้สําหรับการจัดกิจกรรมพิเศษในโถงสถานีกรุงเทพ (ห้องปรับอากาศ) ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลําโพง)”
ซึ่งจะต้องมีมาตรการคัดกรองและมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชน และการจํากัดการเข้าถึงเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน
สำหรับประเด็นคําถามทีรับฟังความคิดเห็น
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟหรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดวางการรถไฟและทางหลวง
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเว้นให้มีการขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในบริเวณที่ จัดไว้สําหรับการจัดกิจกรรมพิเศษในโถงสถานีกรุงเทพ (ห้องปรับอากาศ) ภายในสถานีรถไฟกรุงเทพ
ที่มีการคัดกรอง และมาตรการที่จําเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชน และการจํากัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ว่าการจัดกิจกรรมพิเศษ ที่จะได้รับยกเว้นให้ขายและบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ได้จะต้องได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งๆ ไป
มีรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่าที่ ประชุมคณะกรรมการ ยังไม่มีมติหรือรับหลักการเกี่ยวกับเรื่องนี้
โดยให้นำกลับไปศึกษาอีกรอบก่อนนำมาเสนอใหม่ เนื่องจากหลังรับฟังข้อเสนอแล้ว ยังเห็นบางประเด็นที่ไม่ตรงกัน จึงเลื่อนไปก่อน ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และทุกฝ่ายกลับไปจัดทำรายละเอียดกลับมาเสนออีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า
“ซึ่งที่ยังเห็นไม่ตรงกัน คือ รายละเอียดว่าจะให้ขายตรงไหน”
โดยเฉพะที่การรถไฟฯ เสนอว่า ร่างสำนักนายกฯ จะเป็นลักษณะพิเศษ เช่าเที่ยวทั้งหมด แต่ก็ยังมีข้อสงสัยกัน จึงเป็นที่มาที่กรรมการฯ ให้ รฟท.ไปทำนิยามมาให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนสบายใจ ไม่ไปตีความ ยืนยันว่า ห้ามกรณีผู้โดยสารทั่วไป เราห้ามเด็ดขาดอยู่แล้ว ไม่ให้ยุ่งกับเด็ก สตรี
ดังนั้น ความตั้งใจของเราต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน ต้องเขียนนิยามให้ชัดเจน ในรายละเอียดที่เสนอต้องมีมาตรการคัดกรอง และมาตรการที่จำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชน
และการจำกัดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน ซึ่งเรามีอายุกำหนดห้ามขายอยู่แล้ว แต่ต้องเขียนในรายละเอียดให้ชัด
“ความเข้าใจของผมคือทั้งคันแล้วไปทีเดียว ไม่ใช่ว่าไปโบกี้หนึ่งแล้วไปอาละวาดอีกโบกี้อื่น แบบนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็น จึงบอกฝ่ายเลขาให้เขียนให้ชัด” นพ.ภาณุมาศ กล่าวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568
นพ.ภาณุมาศ กล่าวครั้งนั้นว่า ในส่วนของสถานีรถไฟ คือ ที่หัวลำโพง น่าจะชัดเจนแล้ว แต่จะให้หรือไม่ให้ตองรอกรรมการ ซึ่งรายละเอียด คือ เฉพาะห้องโถงที่ปรับอากาศ แต่ย้ำว่า ไม่ให้มีการตั้งร้านขายถาวรแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตต้องไปออกใบอนุญาตขายชั่วคราว.