ปธ.สภา ยังไม่เคาะวันถกงบฯ 69 ชี้ ขัดแย้งในสภาเป็นเรื่องธรรมดา บอก สุดท้ายงบจะได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับกมธ.วิสามัญ แต่ต้องโปร่งใส-ตรวจสอบได้
วันนี้ (14 พ.ค.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงวันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ว่า จากที่คุยกันคร่าวๆ ซึ่งยังไม่ได้มีการแจ้งมาว่าจะเป็นวันใด แต่รายละเอียด นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่หนึ่ง ที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้แทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ว่า มีวาระการประชุมเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเปิดวันที่ 28 พ.ค. จะไปจบวันที่ 30 หรือ 31 พ.ค. ก็ยังไม่มีความชัดเจน และรูปเล่มสำนักงบประมาณยังไม่ส่งมา โดย นายพิเชษฐ์ จะเป็นผู้คุยในรายละเอียดว่าแต่ละฝ่ายจะใช้เวลากี่ชั่วโมง ทั้งนี้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำหนดเวลาอย่างเดียวก็จะมีปัญหาว่าจะใช้มากหรือใช้น้อย ก็สามารถตกลงกันได้
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล และอาจมีการคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพียงแต่สั่งการได้เตรียมพร้อมสำหรับการพิจารณา ส่วนเรื่องความขัดแย้งถือเป็นเรื่องธรรมดาของสภา เพราะเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องปัญหากฎหมายปัญหา ปัญหางบประมาณ และปัญหาการบริหารงาน ส่วนเรื่องของรัฐบาลก็เป็นเรื่องของรัฐบาล เรื่องของฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน แต่สภาเป็นที่ประชุมร่วมกัน ซึ่งคิดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยได้
เมื่อถามว่า เป็นกังวลหรือไม่ว่าจะไปถึงจุดที่คว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และนำไปสู่การยุบสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะประธานไม่สามารถจะบอกได้ว่ากังวลหรือไม่กังวล เพราะผ่านมาหมดแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะโดยปกติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ซึ่งการบริหารงานของรัฐบาล และการบริหารงานของส่วนต่างๆ ก็ต้องใช้งบประมาณ ส่วนจะถกเถียงกันว่าควรจะตัดมากน้อยแค่ไหน หรือควรจะไปปรับปรุงอย่างไร ถือเป็นเรื่องของสภา แต่ในที่สุดแล้วงบประมาณต้องออก ถ้าไม่มีงบประมาณ การบริหารงานก็จะเดินหน้าไม่ได้ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาถึงขั้นงบประมาณจะตกไป
เมื่อถามว่า งบที่คนสนใจส่วนใหญ่คือเรื่องของสภา ได้มีข้อแนะนำหรือข้อสังเกตอะไรไปบ้าง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องสภาก็เหมือนกับงบประมาณส่วนของต่างๆ ซึ่งสภามีฝ่ายสำนักงานทำคำของบประมาณไป และเมื่อทำคำขอไปแล้ว ก็จะมีการพิจารณาเบื้องต้นว่ามีความจำเป็น หรือเหมาะสมประการใด โดยมีมาตรฐานอยู่แล้ว และหากเข้าไปในรูปเล่มเมื่อไหร่ก็จะเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการวิสามัญที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และจะดูอีกครั้งว่าควรจะพิจารณาอย่างไร แต่สำหรับสภาฯ ข้อพิจารณาตามกฎเกณฑ์ว่าหากไม่จำเป็นก็ตัดออก หรือหากมากน้อยอย่างไรก็ให้ตามความจำเป็น และท้ายที่สุดก่อนจะใช้เป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็ต้องผ่านกรรมาธิการ แต่เมื่อผ่านกรรมาธิการแล้ว เวลาสภาจะทำงานจริงๆก็ต้องมีขั้นตอน ในการกำหนด TOR ที่มีการตั้งกรรมการประกวดราคา กรรมการตรวจสอบงาน และสภาของเราสามารถตรวจสอบได้มากกว่างานอื่นๆ เพราะเรามี สส. กรรมาธิการติดตามงบประมาณ กิจการสภา และอื่นๆ
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ในฐานะประธานรัฐสภาต้องการที่จะให้งบประมาณของสภา มีความโปร่งใสตรวจสอบได้เพราะเราเป็นสถาบันหลักนิติบัญญัติที่จะออกกฎเกณฑ์และตรวจสอบ ฉะนั้น อย่าพึ่งไปดูเฉพาะคำขอ เพราะบางครั้งอาจจะขอมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับที่จะตัดหรือเพิ่มเติม แต่ในที่สุดตามกฎหมายก็อยู่ที่อำนาจของกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 72 คน ที่จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม กระบวนการต้องตรวจสอบอย่างโปร่งใส
เมื่อถามถึงการก่อสร้างที่เพิ่งทำงบประมาณที่ใช้ไปค่อนข้างเยอะ รวมถึงห้องสมุดที่ใช้งบประมาณหลายร้อยล้านมีความจำเป็นหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า TOR จะเป็นอย่างไร แบบก็ยังไม่เสร็จ เป็นเพียงคำขอเท่านั้น ซึ่งเมื่อแบบเสร็จ ก็ต้องมาตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ และอาจจะต้องทำประชาพิจารณ์ก็ได้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดูว่ามีความเหมาะสมอย่างไร แต่ตนเองก็เห็นว่าสิ่งที่อยู่ในสภา เมื่อใช้ไป 6 ปีแล้ว ผู้ใช้ และผู้ออกแบบควรรู้ว่ามีความเหมาะสม หรือควรปรับปรุงอย่างไร อย่างเช่น ห้องประชุมที่มีความจุกว่า 1,500 คนนั้น มีห้องประชุมจริง แต่ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีเวที เครื่องเสียง ดังนั้น ต้องเพิ่มเติมให้ครบ มิเช่นนั้น จะอยู่ 6 ปีแล้วไม่ได้ใช้ ทางคณะกรรมการกิจการสภาผู้แทนราษฎรต้องการให้กรรมการ หรือใครมาใช้ จึงมีการเสนอมา เจ้าหน้าที่ก็ไปสำรวจ และทำคำขอมา โดยคำขออาจจะมากไป สำนักงบประมาณก็คงจะตัดอีก บางรายการขอไป 7 ล้านบาท แต่ให้มา 1 ล้านกว่าบาทก็มี ดังนั้น อย่าไปดูคำขอ ให้ดูตอนอนุมัติ และดูตอนที่กรรมาธิการพิจารณา เพราะจะมีการพิจารณาอย่างละเอียด
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า เราได้มีการมอบหมายกัน รองประธานสภาแต่ละคน ก็มีหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งดูแลในระดับนโยบาย ตอนที่ดำเนินการจริง เป็นเรื่องของสำนักงานฝ่ายต่าง ๆ ไปดูแล ซึ่งตนเองคิดว่า ส่วนของตนเองจะดูให้โปร่งใส และให้ตรวจสอบได้ เราต้องดูทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเป็นอย่างไร โดยสิ่งที่มี เมื่อไม่ได้ใช้ หรือไม่ได้ประโยชน์ มันปรับปรุงไม่ได้เลย ตนว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น ศาลาแก้ว ตนเองไม่รู้ว่าตอนสร้างใช้งบประมาณเท่าไหร่ แต่มันไม่ได้ใช้ ซึ่งหากจะใช้จริงๆ ต้องมีการออกแบบ ให้กรมโยธา กรมศิลปากรมาดูให้เหมาะสมกับการใช้กับตึกรัฐสภา และอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 ที่จะยกมาประทับในที่ตรงนั้น ทุกอย่างต้องเหมาะสม และใช้ได้ การออกแบบก็ไม่ใช่ใครที่จะออกแบบได้ อย่างน้อยที่สุดกรมโยธาธิการ กรมศิลปากร และส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องทำให้โปร่งใส ใช้ประโยชน์ได้ สมศักดิ์ศรีของสถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งต่อไป ก็จะมีอนุสาวรีย์อยู่ตรงนั้น และจะมีพิธีสำคัญต่างๆ ดังนั้น ศาลาแก้วจึงต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสม และไม่ต้องห่วง สภาทำไม่ดีไม่ได้ เพราะคนผ่านไปมา อย่าไปคิดว่ามีแล้วปรับปรุงไม่ได้ ถ้ามีแล้วทำให้ดีขึ้น ก็ต้องทำ ผ่านมา 6 ปีแล้ว อย่างห้องสมุดอยู่ชั้น 9 ต้องถามว่ามีสมาชิกไปใช้เท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าการบำรุงรักษาตามที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาเยอะ จึงต้องมีการสำรวจ และเมื่อออกแบบแล้ว คงต้องมีการประชาพิจารณ์ ซึ่งหากทำโดยไม่รู้ว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร ก็จะทำไม่ถูก เราไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองงบประมาณของประชาชน ทุกอย่างต้องมีเหตุผล มีประโยชน์ เพราะไม่ใช่แค่สมาชิกรัฐสภาที่ใช้ แต่ยังมีประชาชน นิสิตนักศึกษา ที่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ต้องเป็นห้องสมุดประวัติศาสเก็บเอกสารต่างๆ ทั้งหมดเหมือนกับห้องสมุดแห่งชาติ เหมือนห้องสมุดในสภาคองเกรส ที่มีการแยกชัดเจน มีการแยกเอกสารไว้ ต้องทำให้เป็นห้องสมุดเชิงวิชาการให้ประชาชนได้เรียนรู้ทั้งหมดจริงๆ ไม่ใช่มีเอาไว้ประดับ
นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า ต้องให้ผู้รู้ มาเป็นผู้อธิบายในการใช้ประโยชน์ต่างๆ ในการใช้สอย ส่วนงบประมาณสภามีหน้าที่ขอ และจะถูกตัดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ พร้อมยืนยันว่า ต้องโปร่งใส ตรวจสอบ และดำเนินคดีได้ถ้าสภาไม่สามารถจะตรวจสอบได้ก็รู้อยู่ว่ามีทั้ง ป.ป.ช. ตรวจสอบ ตนเองก็ได้เน้นย้ำว่า ต้องให้โปร่งใส แต่ไม่อยากให้วิพากษ์วิจารณ์โดยที่ยังไม่ใช่ของจริง คือยังไม่ถึงตอนการประมูลดำเนินการ