ครม.เห็นชอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตอบโจทย์ความต้องการทางการศึกษาอย่างแท้จริง
วันนี้(13 พ.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ.2568 – 2570 (ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานให้ทุน และหน่วยงานทำวิจัยนำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยทางการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 - 2570 (ทิศทางการการวิจัยทางการศึกษาฯ) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานให้ทุนและหน่วยงานทำวิจัยนำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยทางการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมมีจำนวนมากแต่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงานระดับปฏิบัติไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบกับประเทศไทย ยังไม่เคยจัดทำทิศทางการวิจัยด้านการศึกษามาก่อน ดังนั้น การจัดทำทิศทางการการวิจัยทางการศึกษาฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะเป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาการให้ทุนวิจัยแก่หน่วยงานทำวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน (รวม 8 ประเด็น) ได้แก่
(1) การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้างและการจัดการศึกษา ที่รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
(2) การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่มุ่งสู่การยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
(3) การวิจัย เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษา ที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ และ
(4) การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปราศจากความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคณะกรรมการสภาการศึกษา โดยมีรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567
สำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ ความท้าทาย แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาและการวิจัยทางการศึกษาของไทยและต่างประเทศ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ความต้องการ ประเด็นปัญหา และเป้าหมายทางการศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นงานวิจัยทางการศึกษา และเพื่อให้มีทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ที่มีเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับและผลกระทบที่เกิดขึ้น มีทิศทางการวิจัยทางการศึกษาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำวิจัยอย่างเป็นระบบ มุ่งไปทิศทางเดียวกันตอบโจทย์ความต้องการทางการศึกษาอย่างแท้จริง” นายคารม ระบุ