เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่า คำแถลงของ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายดนุพร ปุณณกันต์ ที่ย้ำว่าจะไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้นในช่วงนี้ หรืออนาคตอันใกล้นี้ และมั่นใจว่าเสถียรภาพของรัฐบาลยังมั่นคง โดยพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความสัมพันธ์ที่ดี แม้ว่าบางเรื่องอาจมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ก็สามารถพูดคุยกันได้
เชื่อว่าหลายคนคงเห็นคล้อยตามคำแถลงในนามพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ว่าจะไม่มีการยุบสภาอย่างเด็ดขาด แต่ที่เชื่อแบบนั้นก็เพราะรู้ว่าหาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรียุบสภาเท่ากับ “ฆ่าตัวตาย” ทางการเมือง และถึงขั้นทำลายพรรคเพื่อไทย กันเลยทีเดียว
ในการแถลงของ นายดนุพร ปุณณกันต์ มีการยืนยันหลายเรื่อง เริ่มจากปฏิเสธกระแสข่าวพรรคภูมิใจไทย จะโหวตคว่ำ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2569 เพราะเกี่ยวข้องกับคดีการฮั้ว สว. ว่า ไม่อยากให้สังคมคล้อยตามข่าวเช่นนี้ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่างก็ทำตามอำนาจหน้าที่ที่เขามี และข่าวที่ออกมาก็ไม่ได้มีการระบุว่า พรรคการเมืองใดอยู่เบื้องหลัง
จากที่มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ต่างก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28-30 พฤษภาคมนี้ เป็นอย่างดี ฉะนั้น ย้ำว่า ไม่อยากให้ข่าวเช่นนี้ออกมาแล้วทำให้สังคมเกิดความไขว้เขว ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล
ถามว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ยุบสภาใช่หรือไม่ นายดนุพร กล่าวว่า แน่นอน แม้การทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะมีความเห็นต่างบ้างในบางประเด็น แต่ก็ไม่หนักหนาถึงขั้นที่จะพูดคุยกันไม่ได้ และเมื่อมีความเห็นต่าง ผมก็เชื่อว่าหัวหน้าพรรคจะสามารถพูดคุยกันได้
สรุปความก็คือ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันไม่มีการยุบสภาในช่วงนี้ หรือ อย่างน้อยก่อน ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 เข้าสภา และยังมั่นใจว่า พรรคภูมิใจไทย จะยกมือให้ เพราะเป็นนโยบายร่วมกันของทั้งรัฐบาล ทุกพรรคร่วมรัฐบาล สอง ยอมรับความเห็นต่างในรัฐบาลแต่ไม่เลวร้ายถึงขั้นแตกหักยังสามารถพูดคุยกันได้
ที่ผ่านมา มีความเห็นขัดแย้งหรือจะเรียกว่าความเห็นต่างระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายลงประชามติ ที่ดินเขากระโดง ที่ดินสนามกอล์ฟเขาใหญ่ จนล่าสุดมีการดำเนินคดี “ฮั้ว” เลือกตั้ง ส.ว.ที่มีความเกี่ยวพันไกล้ชิดกับ “พรรคสีน้ำเงิน” จนล่าสุดมีข่าวว่าพรรคภูมิใจไทยอาจไม่ยกมือโหวตผ่านร่างงบประมาณปี 69 ที่จะนำเข้าพิจารณาในสภาสมัยวิสามัญในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จนมีการพูดถึงเรื่องการ “ยุบสภา” ดังกล่าวตามมา
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันเฉพาะเรื่อง “ยุบสภา” ถึงความเป็นไปได้ ก็ต้องบอกได้ทันทีเลยว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะการยุบสภาในช่วงเวลาแบบนี้ ในทางการเมืองสำหรับพรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นการ “ฆ่าตัวตาย” ชัดๆ และสำหรับนายทักษิณ ชินวัตร ที่เปรียบเหมือนเป็นทุกอย่างของพรรคนี้แล้ว ยิ่งไม่เอาด้วยแน่นอน
เพราะหากยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ แล้วพรรคเพื่อไทยจะเอาอะไรไปหาเสียง จะยืนยัน“แจกเงินดิจิทัล” ต่อไปหรือ หรือ หาเสียงด้วยค่าแรงวันละ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท หรืออาจเพิ่มเป็น 3 หมื่นบาทต่อเดือน ก็ได้ แต่คำถามก็คือที่ผ่านมาทำไม่ได้สักเรื่อง และที่สำคัญคือ เรื่อง “ปากท้อง” เรื่องเศรษฐกิจ ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นจุดขาย คราวนี้หากยังไม่ดีขึ้นจนจับต้องได้ก็จะกลายเป็น “จุดตาย” ของพรรคเพื่อไทยในที่สุด
สำหรับความเป็นไปได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับการยุบสภา ก็คือ “ลาออก” ยังมีความเป็นไปได้มากกว่า สำหรับ นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพราะยิ่งอยู่นานจะยิ่งทำลายความเชื่อมั่นลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลไปถึงเครดิตของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ตามมาในที่สุด ยิ่งในสถานการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติในเวลานี้ถือว่า เธอยังไม่อาจสร้างความหวังให้เกิดขึ้นได้เลย
แต่ถึงอย่างไรสำหรับการ “ลาออก” นั้นเอาเข้าจริงมันก็เป็นไปได้ยาก เพราะพรรคเพื่อไทยยังเหลือ“แคดิเดต”นายกรัฐมนตรีแค่ นายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งในทางการเมืองถือว่า ไม่ดึงดูดใจเลย น่าจะหนักกว่าเดิม ดังนั้นหากพิจารณาถึงความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ “ทู่ซี้” ไปแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดแล้วค่อยมาว่ากัน น่าจะเป็นแบบนั้นมากกว่า
เพราะเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจที่กำลังตั้งเค้าวิกฤตจากสงครามภาษี ของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐอเมริกา เรื่องคดีของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังงวดเข้ามาอาจต้องกลับเข้าคุกอีกรอบในอีกไม่นานข้างหน้า ยิ่งต้องประคองรักษา “อำนาจรัฐ”เอาไว้ในมือน่าจะดีที่สุด
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาเกมของคู่กรณีที่กลายเป็นคู่ขัดแย้งหลักอย่างพรรคภูมิใจไทยที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค และขับเคลื่อนอยู่ข้างหลังโดยนายเนวิน ชิดชอบ ก็ยังถือว่าไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งเหมือนกัน เพราะมีเพียงกระแสของ “บ้านใหญ่” ในจังหวัดหนุนหลังเท่านั้น ดังนั้น ความหมายที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือการ “ต่อรอง” กดดันอยู่แบบนี้ดีกว่า เนื่องจากมั่นใจว่าอีกฝ่ายคง “ไม่กล้าหัก”แน่นอน
ดังนั้น หากพิจารณาโฟกัสเฉพาะเรื่องเฉพาะหน้า ที่มองแค่ ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ว่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดการยุบสภาหรือลาออกนั้น นาทีนี้ยังคงไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการยุบสภา เพราะทั้งสองพรรคคือเพื่อไทย กับภูมิใจไทย ยัง “ไม่อยาก” ให้ถึงขั้นแตกหัก เพราะไม่พร้อมเลือกตั้งกันทั้งคู่ ส่วนการ “ลาออก” ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสถานการณ์ไม่มั่นคงแบบนี้ ยิ่งต้องรักษาเก้าอี้เอาไว้ให้แน่น เพราะประกันความชัวร์เอาไว้ในมือดีกว่า !!