กรมแพทย์แผนไทยฯ ระดมสมองคณะเภสัช 17 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เจาะลึกวิจัยสมุนไพรไทย เพื่อยกระดับคุณภาพ - ปลอดภัย สู่ระดับสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ เดินหน้าจัดตั้งแล็บตรวจสอบผลิตภัณฑ์
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2568 นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดประชุมหารือแนวทางการวิจัยสมุนไพร เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยสมุนไพรระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษา ผลักดันให้สมุนไพรไทยสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในระดับสากล สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสุขภาพไทยอย่างยั่งยืน โดยมีคณะเภสัชศาสตร์จาก 17 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วม ได้แก่ 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. มหาวิทยาลัยมหิดล 4. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6. มหาวิทยาลัยศิลปากร 7. มหาวิทยาลัยรังสิต 8. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 9.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 10. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 11. มหาวิทยาลัยพะเยา 12. มหาวิทยาลัยพายัพ 13. มหาวิทยาลัยสยาม 14. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 15. มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย 16. มหาวิทยาลัยบูรพา 17. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้แลกเปลี่ยนปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางขับเคลื่อนงานวิจัยสมุนไพรในระบบสุขภาพ
นายแพทย์สมฤกษ์ กล่าวว่า วงประชุมฯ ได้มีการสรุปสาระสำคัญเป็น 4 ประเด็นยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพร 2. การสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อให้เกิดการยอมรับจากระบบการแพทย์และสาธารณสุขในระดับนานาชาติ 3. การส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรไทย 4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนของระบบวิจัย โดยจะนำข้อสรุปทั้งหมดนำไปใช้กับการพัฒนาสมุนไพร เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ทั้งในแง่ระบบบริการสุขภาพ และในแง่ของเศรษฐกิจที่จะพัฒนาให้เติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยเฉพาะทางเรื่องโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ในเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง ในการบูรณาการข้อมูลสุขภาพกับสมุนไพร โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยบูรพาเข้าร่วมในการดำเนินงาน ถือเป็นต้นแบบสำคัญของความร่วมมือเชิงวิชาการที่สามารถต่อยอดไปยังโรคอื่นๆ ได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยเฉพาะ เช่น ขมิ้นชัน โดยมุ่งเน้นการบูรณาการผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและการวิจัยจากหลายมิติ อาทิ ด้านเภสัชเคมี เภสัชวิทยา และคลินิก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เชิงลึก เสริมสร้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพในระบบสุขภาพ