กมธ.พัฒนาการเมือง ซักยิบงบรีโนเวตสภา “พริษฐ์” หวังเลขาฯ สภา นำข้อทักท้วง กมธ. และเสียงวิจารณ์ประชาชนเข้าที่ประชุมผู้บริหาร ออกมติว่าจะยุติโครงการใดบ้าง ชี้จะให้ กมธ.งบประมาณ ตัดเองไม่ได้ หวั่นหน่วยงานเสนองบไม่สมเหตุสมผลมาอีกในอนาคต
วันนี้ (8 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นประธาน วาระพิจารณาศึกษาผลการดำเนินการ และการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) โดยเชิญผู้แทนจาก สผ. อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานอาคารสถานที่ของรัฐสภา ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารจัดการและบริหารสถานที่ รวมถึงเชิญ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เข้าให้ข้อมูลด้วย
โดย นายพริษฐ์ กล่าวก่อนเข้าวาระว่า ตนได้หารือกับ กมธ.ถึงรายละเอียดของทั้ง 15 โครงการที่มีการส่งคำร้องของบประมาณในการปรับปรุงอาคารรัฐสภา และไฮไลต์ออกมาทั้งหมด 5 โครงการหลักที่จะมีการพิจารณาในวันนี้ คือ 1. อาคารที่จอดรถเพิ่มเติมมูลค่า 4,600 ล้านบาท โดยมีการทำคำขอในงบประมาณปี 69 จำนวน 1,500 ล้านบาท 2. โครงการระบบภาพยนตร์ 4D อยู่ในตัวร่าง พ.ร.บ.งบฯ 69 จำนวน 180 ล้านบาท 3. โครงการปรับปรุงศาลาแก้ว จำนวน 22 ล้านบาท 4. การปรับปรุงห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ มูลค่า 118 ล้านบาท และ 5. การตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภา มูลค่า 133 ล้านบาท โดยยังไม่ได้ถูกอนุมัติในปีนี้ จึงอยากทราบว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภามีทั้งหมดกี่บาท หากอ้างอิงเอกสารงบประมาณปี 68 จะมีการพูดถึงวงเงินทั้งหมด 1.3 หมื่นล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้างอีกประมาณ 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ แถลงข่าวสรุปผลการประชุมกรรมาธิการ ว่า กรรมาธิการยึด 3 หลักด้วยกัน คือ การตรวจสอบงบประมาณไม่ใช่แค่ว่าการจัดสรรงบประมาณชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องตรวจสอบความเหมาะสมด้วย ถึงแม้งบประมาณบางส่วน จะเป็นไปตามระเบียบ แต่เราจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด การจัดสรรงบประมาณจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสมหรือไม่ในการแก้ปัญหาให้ประชาชน
หลักที่ 2 คือ การจัดการงบประมาณปี 2569 เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จึงควรประหยัดงบประมาณในส่วนที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น และ หลักที่ 3 บ่อยครั้งงบประมาณถูกอ้างว่าเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐสภา แต่ภาพลักษณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยิ่งใหญ่ของอาคาร แต่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำหน้าที่แก้ไขกฎหมายและเป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า จากการซักถามหน่วยงานยาวนานเกือบ 4 ชั่วโมง เห็นว่า มีขั้นตอนต่อไป คือ การตั้งข้อสังเกตในภาพรวม เพราะตอนนี้มีหลายปัญหาที่เห็นรายโครงการ สืบเนื่องมาจากแผนดั้งเดิมของอาคารรัฐสภามีปัญหา ทางหน่วยงานยืนยันว่าแม้หลายโครงการจะเป็นการแก้ไขปรับปรุงบางส่วน แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะแผนดั้งเดิมไม่ได้ครอบคลุมองค์ประกอบดังกล่าวตั้งแต่ต้น เราจึงต้องการเรียกเอกสารเพื่อตรวจสอบแผนดั้งเดิมโดยละเอียดว่าแผนดังกล่าวผ่านมาได้อย่างไร
นอกจากนี้ ที่มาของ 15 โครงการ เมื่อรับฟังจากตัวแทนที่มาชี้แจงเบื้องต้น มีโครงการบางส่วนที่ถูกชงขึ้นมาจากหน่วยงานราชการ แต่บางส่วนก็ถูกชงขึ้นมาจากคณะกรรมการพิเศษ ที่มีคำถามว่าอาจจะถูกตั้งโดยฝ่ายการเมือง
สำหรับโครงการอาคารจอดรถเพิ่มเติมที่พบข้อพิรุธค่อนข้างมาก มีคำของบประมาณเป็นงบผูกพัน 3 ปี รวมกัน 4,600 กว่าล้านบาท แม้จะยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณ แต่มีข้อกังวล เช่น แผนดั้งเดิมของอาคารจอดรถที่มีอยู่อาจขัดกับข้อบัญญัติ กทม. ที่กำหนดไว้ว่าอาคารแต่ละประเภท เมื่อคำนวณจากพื้นที่ตารางเมตร ต้องมีที่จอดรถทั้งหมดกี่ที่ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะออกมาได้ 3,500 คัน แต่แผนดั้งเดิมออกแบบไว้ให้มีที่จอดรถเพียง 2,000 คันเท่านั้น
“คำถามที่ตามมา คือ เมื่อขัดกับข้อบัญญัติของ กทม. แล้วใครจะรับผิดชอบ ผมเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะบอกว่าต้องเพิ่มจำนวนที่จอดรถให้สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ต้องมารับผิดชอบโดยภาษีของพี่น้องประชาชน” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า คณะกรรมการพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมา และเป็นผู้ชงเรื่องการสร้างอาคารที่จอดรถเพิ่มเติม เสนอให้เพิ่มที่จอดรถเพิ่มจากเดิมอีก 4,600 ที่ รวมเป็น 6,500 ที่ เราต้องการตรวจสอบว่าใช้สูตรคำนวณใดให้ได้ตัวเลข 4,600 ที่ออกมา ดูไม่สมเหตุสมผลกับจำนวนของผู้ที่เข้าใช้บริการรัฐสภาพร้อมกันในวันเดียว เหมือนเป็นการตั้งสมมติฐานที่สูงเกินไป นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบว่าใช้สูตรคำนวณใดจึงต้องใช้งบประมาณสร้างอาคารจอดรถถึง 4,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐสภากำลังเปิดประมูลบริษัทมาออกแบบอาคารจอดรถ แต่ไม่ได้ตั้งประมาณไว้ไนปี 2568 แต่นำงบประมาณที่เหลืออยู่จากปี 2567 โอนมาใช้ในส่วนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าไม่เคยมีการโอนงบประมาณในลักษณะนี้มาก่อน ถึงแม้จะมีระเบียบของรัฐสภารองรับ แต่มีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องใช้งบประมาณมากขนาดนี้ในการว่าจ้างบริษัทมาออกแบบอาคาร
โดยมีบริษัทเสนอราคาเข้ามา 3 แห่ง แต่บริษัทที่ชนะยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา เพราะบริษัทอื่นที่ไม่ได้รับคัดเลือก ได้ทำเรื่องอุทธรณ์เข้ามา จึงต้องตรวจสอบต่อไปว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และเวลานี้ยังทันอยู่ที่จะยับยั้งการเซ็นสัญญานี้
สำหรับโครงการโรงภาพยนตร์ 4D ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 180 ล้านบาท ข้อสังเกตคือหน่วยงานไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดที่ทำให้รู้สึกว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่า มีเหตุจำเป็นใดในการทำระบบภาพยนตร์ 4D เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการต้อนรับประชาชนที่มาเยี่ยมชมรัฐสภา และเนื้อหาอะไรที่ต้องใช้ระบบ 4D เท่านั้น แล้วจะทำให้ประชาชนหรือนักศึกษาอยากมาเยี่ยมรัฐสภาเพิ่มขึ้นอีกกี่คน หน่วยงานก็ตอบไม่ได้ ทำให้เห็นว่าโครงการนี้ไม่ได้ถูกคิดขึ้นมาอย่างละเอียด ส่วนโครงการศาลาแก้ว 123 ล้านบาท ก็ทำนองเดียวกันที่คำตอบวันนี้ไม่ได้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน ห้องประชุมงบประมาณ