xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 11 ความก้าวหน้า “แลนด์บริดจ์” ฉบับ กมธ.วิสามัญฯ คาดลงทุนสูงกว่า 1 ล้านล้าน เฉพาะประเด็นความมั่นคงปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดความก้าวหน้า รายงาน “โครงการแลนด์บริดจ์” ฉบับ กมธ.วิสามัญ สภา พิจารณาศึกษาโครงการ 11 ข้อ หลัง ครม.อุ๊งอิ๊ง รับทราบ คาดการณ์เงินลงทุน สูงกว่า 1,000,206.47 ล้านบาท เฉพาะประเด็นด้านความปลอดภัยและความมั่นคง แจงผลศึกษาจาก “คณะที่ปรึกษา สมช.” พ่วงศักยภาพ “กองทัพ” ทั้งความมั่นคงอ่าวไทย/อันดามัน/จังหวัดชายแดนใต้ แจงปัญหาเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ทวาย ย่างกุ้ง ยะไข่” แหล่งผลิตยาฯ พ่วงข้อมูลกลุ่มเคลื่อนไหว อ้างกลุ่มพะโต๊ะ ท่าทีอ่อนลง รับฟังปัญหาพื้นที่มากขึ้น แต่มี NGO บางส่วนนําประเด็นที่ไมมีมูล อ้าง “ทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดินปริมาณมากเก็งกําไร” มาเคลื่อนไหว เผยข้อมูล “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา” ยังไม่ชัดเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ศึกษาเพิ่ม

วันนี้ (7 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงของ “โครงการแลนด์บริดจ์” หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

ล่าสุด หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 พ.ค. 2568 มีมติรับทราบสรุปผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร

ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมแจ้งให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

กระทรวงคมนาคมได้เสนอสรุป 11 ประเด็น ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว นอกจาก 1. ประเด็นภาพรวมการดําเนินโครงการ 2. ประเด็นด้านการเปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่

พบว่า ที่น่าสนใจ ในข้อ 3. ประเด็นด้านการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

3.1 โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูง มีผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จําเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ ในรายละเอียด

การประเมินความเหมาะสมทางด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีความชัดเจน การศึกษา ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment : SEA) ในภาพรวม ที่เกิดจากการก่อสร้างท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ เพื่อให้ทราบผลกระทบที่แท้จริง

รวมทั้งพิจารณาให้ครอบคลุม ตามอนุสัญญาแรมซาร์ และการประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่ต้องกําหนดมาตรการที่ชัดเจนในการเตรียมพร้อม รองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนตัดสินใจดําเนินการ

โดยให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการยอมรับและความร่วมมือในการดําเนินการพัฒนา และสามารถลดข้อขัดแย้งและความเห็นต่างที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้แสดงความคิดเห็น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่

3.2 การดําเนินโครงการควรกําหนดรูปแบบ วัตถุประสงค์ และรายละเอียดแนวทาง ในการดําเนินการให้ชัดเจนก่อนดําเนินการในขั้นตอนต่อไป เช่น ต้นทุนการดําเนินการ รูปแบบการบริหารจัดการ ในเชิงลึก แนวทางการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้

เช่น ต้นทุนการดําเนินการ รูปแบบการบริหารจัดการในเชิงลึก แนวทางการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ กลไกด้านกฎหมายและการขับเคลื่อนการดําเนินโครงการ ปริมาณตู้สินค้า ประเภท ถิ่นกําเนิด และจุดหมายปลายทางของสินค้าที่คาดว่าจะผ่านโครงการ เป็นต้น

ประกอบกับการนําเข้า และส่งออกสินค้าท่าเรือมีบทบาทหลัก (Leading role) ในการเป็นประตูการค้า (Gateway) และเส้นทางทางบก มีบทบาทสนับสนุน (Supporting role)

ดังนั้น โครงการนี้จะมีความเหมาะสมมากขึ้น หากให้ความสําคัญ ในการใช้จ่ายงบประมาณมุ่งเน้นการพัฒนาท่าเรือที่ตั้งอยู่สองฝั่งทะเลให้มีขนาดและประสิทธิภาพในการอํานวย ความสะดวกที่สอดคล้องกับปริมาณสินค้า

โดยเฉพาะสินค้าถ่ายลํา (Transshipment) ที่คาดว่าจะมาใช้ผ่านโครงการ และพิจารณาปรับการลงทุนในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงทางบก

อาทิ ทางหลวงพิเศษหรือทางรถไฟที่เชื่อมท่าเรือ ที่ตั้งอยู่ 2 ฝั่งทะเล ให้มีสัดส่วนของการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ให้ความสนใจร่วมพัฒนาและเกิดประโยชน์ต่อโครงการสูงสุด


3.3 การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) ที่จะนําไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนาในเชิงพื้นที่

อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยพัฒนา/ก่อสร้างส่วนต่อขยายและการพัฒนารูปแบบการขนส่งอื่นร่วมด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้บริการ (Demand)

การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เป็นศูนย์กระจายสินค้าของภูมิภาค (Distribution Park หรือ Freight Village) เนื่องจากมีทําเลที่ตั้งที่เหมาะสม การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมการแปรรูปและไบโอเทค ด้านการเกษตร (Biology)

โดยส่งเสริมต่อยอดอุตสาหกรรมปาล์มน้ํามันสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleo Chemical) แบบครบวงจร

3.4 เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และการทหาร ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก

ดังนั้น จึงต้องศึกษา วิเคราะห์ความเป็นไปได้และภาพอนาคตของโครงการอย่างละเอียดรอบคอบในทุกมิติ และมีการวางแผนเตรียมการ รองรับล่วงหน้า

รวมทั้งควรต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจอย่างกว้างขวางให้ประชาชนได้รับทราบทุกขั้นตอน

3.5 โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ย่อมมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชน จึงต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน

รวมทั้ง การชดเชยต่างๆ แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ การเตรียมความพร้อมของแรงงาน การจ้างงาน และการจัดการระบบ สาธารณูปโภค

3.6 การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จะมีการพัฒนาท่าเรือน้ําลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า ซึ่งมีรูปแบบการลงทุน ที่เหมาะสม คือ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP)

อย่างไรก็ตาม โครงการมีประมาณการวงเงินลงทุนที่สูงถึงกว่า 1,000,206.47 ล้านบาท ประกอบกับตามข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ปรากฏในรายงานผลการพิจารณา ศึกษาญัตติ ยังมีความจําเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมในหลายประเด็น

ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับการที่จะมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพิ่มเติม โดยครอบคลุมถึงการกําหนดสมมติฐานต่างๆ และความเป็นไปได้ในการดําเนินโครงการ ตลอดจนความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนและรอบคอบ เพื่อให้โครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไป


4. ประเด็นด้านกฎหมาย มติ ครม. 6 ส.ค. 2567 ที่ให้ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเร่งรัดการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... โดยเร็ว

ดังนั้น สภาพัฒน์ ควรพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทําร่างกฎหมายและการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการทํา Regulatory Impact Analysis (RIA) และการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง (Public Consultation)

เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีผลกระทบ ในหลากหลายมิติ การนําพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 มาเป็นต้นแบบในการยกร่างกฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเนื่องจากบริบท (Context) ที่แตกต่างกันอย่างมาก

อีกทั้งควรนําปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดําเนินงานและบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมาประกอบการพิจารณา แนวทางในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย

5. ประเด็นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม

5.1 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อดําเนินโครงการจัดทําแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ SEC ที่ยึดโยงกับ ศักยภาพของพื้นที่ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งที่สําคัญของประเทศ

รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ก่อให้เกิด การกระจายรายได้ โอกาส และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ซึ่งตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการพัฒนาประเทศ

5.2 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการดําเนิน โครงการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร

เพื่อกําหนดบริเวณทําเลที่ตั้งและขนาดของพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในพื้นที่ เป้าหมายสําหรับ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการกําหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาด

และการจัดทําข้อเสนอแนะด้านสิทธิประโยชน์ ทั้งนี้ ตามแผนการดําเนินโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2567

5.3 เศรษฐกิจหลักในพื้นที่จังหวัดชุมพร มาจากการปลูกปาล์มน้ำมันและทุเรียน ส่วนเศรษฐกิจ หลักของจังหวัดระนองมาจากการทําประมง หากดําเนินโครงการจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรม

ซึ่งแม้ว่าจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดําเนินโครงการ และมีบทเรียนจากหลายนิคมอุตสาหกรรมที่ทําให้พื้นที่นั้น ไม่สามารถทําการเกษตรได้ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในเชิงลึกโดยการถอดบทเรียนการมีนิคมอุตสาหกรรม

กับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดําเนินการว่ามีความต้องการในการพัฒนาอย่างแท้จริง หรือเป็นการพัฒนา เพื่อเอื้อให้กลุ่มทุน โดยขาดการพิจารณาประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

6. ประเด็นด้านสิทธิประโยชน์สําหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ การให้สิทธิประโยชน์สําหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) โดยการออกร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ....

ที่คล้ายคลึงกับพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 ควรพิจารณาอย่างรอบคอบในประเด็นเชิงนโยบาย การให้สิทธิประโยชน์ประเภทเดียวกันแก่ผู้ประกอบการโดยหลายหน่วยงาน การจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบภายใต้

คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการและทิศทาง ของประเทศในภาพรวม

ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้กําหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มากยิ่งขึ้นและกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยกําหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับศักยภาพ ของพื้นที่ ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายสําหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

ได้แก่ เกษตรและอาหาร ชีวภาพ ท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 5 ปี หรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 3 ปี รายละเอียดตามประกาศ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 18/2565 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2565


7. ประเด็นด้านการเชิญชวนในการร่วมลงทุน การประชาสัมพันธ์โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อชักชวนหรือดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ประเทศ ควรต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิจารณาของนักลงทุน ตลอดจนอาจเตรียมการด้านข้อมูลเพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ ตามความเหมาะสมด้วย

8. ประเด็นด้านการต่างประเทศ

8.1 การดําเนินโครงการแลนด์บริดจ์ สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และการค้าเสรีที่มีอยู่ นโยบาย Free and Open Indo - Pacific (FOIPS) ของสหรัฐอเมริกา และ Belt and Road Initiative (BRI) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

และหลักการพื้นฐานของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา (ASEAN Outlook on Indo - Pacific : AOIP)

8.2 ก่อให้เกิดความท้าทายต่อการดําเนินงานด้านการต่างประเทศ เนื่องจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอํานาจ อาจเข้ามามีอิทธิพล หรือพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน รวมถึงอาจเข้ามาจัดตั้ง สิ่งอํานวยความสะดวกในพื้นที่

นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้ากับประเทศ เพื่อนบ้าน ซึ่งเสียผลประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากการดําเนินโครงการ

8.3 การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ มิตรประเทศประเมินศักยภาพ ทางเศรษฐกิจและแสดงความสนใจลงทุนกับโครงการฯ ในระดับที่แตกต่างกัน อาทิ

1) กลุ่มที่ประเมินว่าโครงการช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งเพียงเล็กน้อย และยังต้องติดตามเรื่องขีดความสามารถการให้บริการด้านการขนส่ง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งห่วงกังวลต่อความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากได้ลงทุนในโครงการ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ยังไม่ได้ผลตอบแทนชัดเจน

และ 2) กลุ่มที่แสดงความสนใจต่อโครงการ ในชั้นต้น อาทิ สหรัฐฯ จีน และซาอุดีอาระเบีย

9. ประเด็นด้านความปลอดภัยและความมั่นคง

9.1 โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของกองทัพในการป้องกันราชอาณาจักร การรักษาสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขต ทางทะเลของประเทศไทย และการรักษาและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางทะเล

เนื่องจากจะทําให้การเคลื่อนย้ายกําลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปกรณ์ของกองทัพ ระหว่างอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดเวลา และมีความอ่อนตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเดินทางผ่านน่านน้ำต่างประเทศ

9.2 ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายทางทหารและถูกโจมตีในภาวะความขัดแย้ง เนื่องจากจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์และเส้นทางคมนาคมที่สําคัญของโลก และอาจเป็นมูลเหตุให้ประเทศมหาอํานาจต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ หรือเข้ายึดครองพื้นที่ในยามสงคราม

9.3 ก่อให้เกิดความเสี่ยงของภัยความมั่นคงทางทะเลในพื้นที่ เนื่องมาจากกิจกรรมทางทะเล ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ภัยจากโจรสลัด การปล้นเรือ การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง การลักลอบขนย้ายสิ่งผิดกฎหมายสินค้าหนีภาษีและสินค้าต้องห้าม

รวมทั้งภัยจากการก่อการร้าย ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาความสงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่ชั้นในมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น

9.4 การเตรียมการรองรับด้านการป้องกันประเทศ และบริหารจัดการวิกฤต

9.4.1 การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพ ของกําลังพล ยุทโธปกรณ์ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการบริหารจัดการของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงทั้งทางบกและทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป

เพื่อให้สามารถรองรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบทั้งในสภาวะปกติ สภาวะความขัดแย้ง และสภาวะสงคราม

9.4.2 การปรับปรุงยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทั้งอ่าวไทยและฝั่งทะเล อันดามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงเพื่อรักษาผลประโยชน์ และความร่วมมือในภูมิภาค ระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและรักษาดุลอํานาจระหว่างประเทศมหาอํานาจและกลุ่มพันธมิตรประเทศต่างๆ

9.4.3 ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่โครงการตั้งอยู่นอกพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่อาจมีการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ข้างเคียง เพื่อแสดงขีดความสามารถการปฏิบัติการนอกพื้นที่

9.4.4 การบังคับใช้กฎหมายเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรม ทางเศรษฐกิจ รวมถึงระบบความมั่นคงชายแดน (Border Control) เพื่อป้องกันการแสวงประโยชน์จากการเชื่อมต่อ ด้านคมนาคมระหว่างสองฝั่งทะเล โดยการประเมินถึงปัญหาความมั่นคงความเสี่ยงสูง ได้แก่

(1) การค้ายาเสพติด และสินค้าผิดกฎหมาย การลักลอบค้าสินค้าผิดกฎหมายมีแนวโน้มขยายเส้นทางทางทะเลช่วงการแพร่ระบาด ของโควิด-19 เพื่อหลบเลี่ยงช่องทางทางบกซึ่งถูกจํากัดด้วยมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะยาเสพติด ซึ่งได้รับ อิทธิพลจากสถานการณ์ในเมียนมา

โดยมีรายงานว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษของทวาย ย่างกุ้ง และยะไข่ กลายเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดเพื่อนํารายได้มาสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการสู้รบ และเส้นทางการขนส่งยาเสพติดผ่านบริเวณ ทะเลอันดามันเชื่อมโยงถึงเป้าหมายผู้ซื้อในประเทศสําคัญ

และ (2) การลักลอบเข้าเมือง ได้แก่ กลุ่มชาวโรฮีนจา ซึ่งระยะที่ผ่านมาอาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย

โดยอาศัย เส้นทางผ่านทะเลอันดามัน และกลุ่มชาวเมียนมา ซึ่งอาศัยเส้นทางธรรมชาติเพื่อหลบหนีเข้ามาทํางานฝั่งไทย รวมถึงบริเวณแม่น้ำกระบุรี เขตจังหวัดระนอง

9.4.5 การป้องกันและบริหารจัดการกรณีการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งมีเป้าหมายโจมตี ผลประโยชน์ของต่างชาติที่เข้ามาดําเนินการลงทุนหรือทําการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางคมนาคมระหว่างอ่าวไทย-ทะเลอันดามัน

ตลอดจนการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสําคัญ (Critical infrastructure) อาทิ ท่าเรือในเขตอุตสาหกรรม ระบบการลําเลียงพนักงาน หรือเส้นทางสัญจรที่เชื่อมโยงกับโครงการ

9.4.6 การสร้างเสริมระบบความมั่นคงปลอดภัยเพื่อลดความเปราะบางต่อการโจมตี หรือการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาทดแทนแรงงานคนเพื่อลดการสัมผัส

และยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมต่างๆ สู่ระบบอัตโนมัติขั้นสูง โดยกิจกรรมทางทะเลที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ ระบบการจัดการขนส่งและท่าเรือ

9.5 ภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การเชื่อมสองฝั่ง ทะเลจะทําให้เกิดเส้นทางคมนาคมสําคัญ (SLOCs) เส้นทางใหม่

จึงควรเร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง ปลอดภัยทางทะเลร่วมกับประเทศที่มีบทบาทในเส้นทางดังกล่าว รวมถึงภายใต้กรอบ ASEAN BIMSTEC ReCAAP และการเชื่อมต่อกับการดําเนินยุทธศาสตร์ของมหาอํานาจในอินโด-แปซิฟิก

ทั้งนี้ รายงานการศึกษาของคณะที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อปี 2566 ระบุว่า การพัฒนาความเชื่อมต่อของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ การขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Infrastructure Connectivity)

ทวีความสําคัญในมิติของการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความมั่นคงของประเทศมหาอํานาจในอินโด-แปซิฟิก (ได้แก่ สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน และจีน) โดยสามารถแสดงออกในรูปแบบ ดังนี้

1) การกระชับ ความสัมพันธ์กับกลุ่มมิตรประเทศที่มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน 2) การแก้ไขปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (อาทิ การถูกปิดกั้นจากช่องทางคมนาคมสําคัญ หรือการคุ้มกันผลประโยชน์ทางทะเล)

และ 3) การแข่งขันหรือจํากัด ประเทศคู่แข่งจากการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) หรือการสร้างเสริมกฎกติกาและแนวปฏิบัติที่มาพร้อม กับโครงการพัฒนาต่างๆ

ในการนี้ การพัฒนาความเชื่อมต่อด้านคมนาคมของไทย โดยเฉพาะเส้นทางอ่าวไทย-ทะเลอันดามัน ซึ่งมีความสําคัญเชิงยุทธศาสตร์อันเกิดจากการเชื่อมต่อสองฝั่งมหาสมุทร ควรส่งเสริมระบบ นิเวศทางธุรกิจ (Business ecosystem)

สําหรับการค้าและการลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนทุกประเทศ/กลุ่มประเทศ อย่างเปิดกว้าง และไม่พึ่งพาเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยคํานึงถึงมาตรฐานสากล รวมถึงการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และความโปร่งใสด้านการลงทุนด้วย

9.6 การส่งเสริมจากภาครัฐด้วยการปรับปรุงระบบสมุทราภิบาล การพัฒนาระบบ ความตระหนักรู้สถานการณ์ร่วม (Shared awareness) และเครื่องมือกลางสําหรับการบริหารจัดการทางทะเล แบบเป็นองค์รวม

โดยเฉพาะการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning) และการประเมินสถานะของทรัพยากรทางทะเล โดยคํานึงถึงมิติที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความสมดุล ของระบบนิเวศ เพื่อการใช้ประโยชน์อื่นอย่างสมดุล และมีกลไกแก้ไขความขัดแย้งบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน

9.7 ภายหลังจากโครงการแลนด์บริดจ์ก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่บริเวณท่าเรือฝั่งอ่าวไทย และอันดามันจะมีกิจกรรมทางทะเลเพิ่มมากขึ้น และมีพื้นที่ที่มีความล่อแหลมต่อการดําเนินกิจกรรมทางทะเล ที่ผิดกฎหมาย

รวมทั้งอาจเป็นเป้าหมายของกลุ่มที่จะกระทําความผิดทางทะเลและส่งผลกระทบต่อประเทศ เช่น การกระทําอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การค้ามนุษย์ และลักลอบเข้าเมืองทางทะเล

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลและชายฝั่ง การก่อการร้ายทางทะเล การลักลอบขนยาเสพติด สินค้าผิดกฎหมายและอาวุธสงครามทางทะเล การลักลอบขนส่งสินค้าสองวัตถุประสงค์ และอาวุธที่มีอํานาจทําลายล้างสูง

การทําประมงผิดกฎหมาย และการทําลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น ซึ่งหน่วยเกี่ยวข้องต้องเตรียมแผนฯ และกําลังพล พาหนะ ในการดูแล ป้องปรามและปราบปรามเพิ่มมากขึ้น


10. ประเด็นด้านการสร้างความเข้าใจกับประชาชน และด้านสิ่งแวดล้อม
10.1 หากมีความจําเป็นต้องดําเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่นําเสนอเป็นมรดกโลก และพื้นที่กันชน จะต้องจัดทํามาตรการบรรเทาผลกระทบที่ชัดเจนประกอบการดําเนินการในพื้นที่ร่วมด้วย

เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) การประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) การประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment : HIA)

ตลอดจนแผนการบริหารจัดการเพื่อปกป้องคุ้มครองคุณค่าโดดเด่น อันเป็นสากล (OUV) ของพื้นที่

10.2 โครงการแลนด์บริดจ์ มีพื้นที่โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร - ท่าเรือน้ำลึก ระนอง คาบเกี่ยวเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี (15 ธ.ค.2530 / 22 ส.ค.2543 / 17 ต.ค.2543)

ซึ่งเป็นเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีที่เป็น “ป่า” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และเป็นป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหินกอง และป่าคลองม่วงกลวง มีข้อเสนอแนะ เช่น

การขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องดําเนินการขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี

โดยมีแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสนอเรื่องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน โดยเด็ดขาด แต่หากส่วนราชการใดมีความจําเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าชายเลนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็สามารถยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

โดยให้นําเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไป และหน่วยงานของรัฐที่ขอใช้ประโยชน์ต้องเป็น ส่วนราชการระดับกระทรวงเป็นผู้มีหนังสือแจ้งขอความเห็นชอบต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยตรงก่อน

และนําความเห็นชอบดังกล่าวเสนอไปยังสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพร้อมกับเรื่องที่จะเสนอ รัฐมนตรี เพื่อดําเนินการตามขั้นตอนต่อไป

โดยเรื่องต่อกรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งเพื่อขออนุญาตทําประโยชน์ในเขตป่าชายเลน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะดําเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องแห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

หรือพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ต่อไป ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องจัดเตรียมรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบ การยื่นคําขออนุญาตด้วย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 ม.ค.2556 )กรณีค่าใช้จ่าย ในการปลูกและบํารุงป่าชายเลนไม่น้อยกว่า 20 เท่าของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ ดําเนินการในพื้นที่จังหวัดที่ดําเนินโครงการหรือในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงตามลําดับ

การดําเนินการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้ สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

โดยบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด กระทําการเพื่อการศึกษาและจัดทํารายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสําหรับโครงการ กิจการหรือการดําเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (รายงาน EHIA)

ภายใต้ โครงการแลนด์บริดจ์ จํานวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1) โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมจิ๋ว อําเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองริ้ว และป่าสงวนแห่งชาติป่าพรุคลองใหญ่ ท้องที่ตําบลบางน้ำจืด อําเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

2) โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง อําเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะพยาม ท้องที่ตําบลปากน้ํา อําเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

และ 3) โครงการ พัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง อําเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหินกอง และป่าคลองม่วงกลวง ท้องที่ตําบลราชกรูด อําเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

อย่างไรก็ดี หากการดําเนินโครงการมีการวางแผนการลงทุนที่ศึกษาแล้วว่า โครงการมีความคุ้มค่าและเหมาะสมต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีแผนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาเหมือนเดิม

ขอให้ดําเนินการขออนุญาตใช้ประโยชน์ พื้นที่ป่าไม้ให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ยังควรศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ควรให้ความสําคัญกับการศึกษาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผลกระทบ ทั้งทางบวกและลบที่อาจเกิดขึ้นบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site)

รวมทั้งการกําหนด ข้อตกลงระดับพื้นที่ควรครอบคลุมไปถึงประชาชนและชุมชน โดยเฉพาะการเข้าถึงและแบ่งปันการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

กระทรวงมหาดไทยสามารถประสานหน่วยงานระดับจังหวัดให้ช่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อโครงการฯ และสนับสนุนการสร้างทักษะอาชีพ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ยกระดับความเป็นอยู่ จากการประกอบการในโครงการได้

ขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม NGO มีการชักชวนกลุ่มเคลื่อนไหวจากต่างพื้นที่ ให้เข้ามาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะต่างตอบแทน อาทิ กลุ่มเคลื่อนไหวกรณีอําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขณะที่กลุ่มเครือข่ายพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร มีท่าทีอ่อนลง เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลรับฟังปัญหาในพื้นที่มากขึ้น

และการแสวงประโยชน์จากกลุ่มทุนต่างชาติ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับการกว้านซื้อที่ดินปริมาณ มากเพื่อเก็งกําไร แต่ NGO บางส่วนนําประเด็นดังกล่าวมาเคลื่อนไหว

11. การพัฒนาพื้นที่จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคใต้ตอนล่าง ในเรื่อง การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ให้เป็นทางเลือกการขนส่งระหว่างประเทศและขจัดสิ่งกีดขวาง ทางเดินเรือในทะเลสาบสงขลา เนื่องจากการดําเนินโครงการฯ มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

จึงควรตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิด วิเคราะห์แนวทางในการดําเนินโครงการฯ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

จากการตรวจสอบในเบื้องต้นโครงการ ผ่านพื้นที่ราชพัสดุ จํานวนประมาณ 33 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 1,062 - 0 - 11.27 ไร่

ทั้งนี้ หากมีการดําเนินโครงการบนที่ราชพัสดุข้างต้น หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องกําหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการชดเชยหรือเวนคืนที่ดินตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแก้ไขปัญหาให้ส่วนราชการหรือราษฎรที่ได้รับผลกระทบต่อไปด้วย

สุดท้าย ข้อเสนอแนะ ข้อย่อย 5) กรณี “ควรมีการศึกษาความคุ้มค่าในการก่อสร้าง รถไฟทางคู่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงจังหวัดสงขลา มีข้อเสนอแนะว่า ควรขยายเส้นทางไปถึงด่านปาดังเบซาร์ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับการขนส่งระบบรางมากที่สุดและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน”

โดยปัจจุบันได้มีการศึกษา ความเหมาะสมของโครงการและออกแบบรายละเอียด ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร และเส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร เสร็จเรียบร้อยแล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น