กมธ.ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างฯ ตั้ง 7 ข้อสังเกต-ฝาก 2 คำถาม ปมตึกถล่ม “ปลอด” ไล่ขยี้บี้ “ผู้ว่าฯ สตง.” ไปแต่งตัวมาใหม่ ครั้งหน้าต้องมาตอบแจงกรรมาธิการ ชี้ขี้เกียจ คุ้ยเหตุผลชิ่งไม่ยอมร่วมสังฆกรรม แซะถ้าไม่มาอีก จะตามถึงบ้าน
วันนี้ (7 พ.ค.) เมื่อเวลา 15.50 น. ที่รัฐสภา นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง มาตรฐานความปลอดภัย การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุม กมธ. ซึ่งมีการเชิญ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ จึงได้ส่ง นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มาชี้แจงแทน
โดย นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งหน้าคงต้องมีการเชิญ สตง. มาอีกครั้ง โดยเฉพาะ ผู้ว่าฯ สตง. ต้องมาเอง และอาจรวมถึงอดีต ผู้ว่าฯ สตง.ด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ผู้บริหารในปัจจุบันบางคนไม่รู้เรื่อง โดยเราพบ 7 ข้อหลัก ดังนี้ 1. ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องย้ายสถานที่ก่อสร้างจากจังหวัดปทุมธานี มาที่เขตจตุจักร ข้อกล่าวอ้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมนั้น ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังได้ เนื่องจากอาคารของหลายหน่วยงานที่อยู่บริเวณนั้น ก็สร้างเขื่อนรอบๆ ได้ สามารถอยู่กันมาถึงทุกวันนี้ ถ้าวันนั้น สตง.ได้ถามผู้รู้ก่อน ก็จะได้รับคำแนะนำ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้าย เป็นความคิดที่ผิด และก่อให้เกิดปัญหา 2. เมื่อมีการย้ายมาที่ใหม่ ก็ต้องเสียงบประมาณในการออกแบบถึง 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 2 มีราคาแพงกว่าเดิม 3. สตง.ไม่มีความรู้ทางเทคนิคด้านวิศวกรรม ทำเองคิดเองตัดสินใจเอง โดยไม่มีหน่วยงานด้านวิศวกรรมของรัฐบาล อย่างกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วย เมื่อบริษัทก่อสร้าง บริษัทออกแบบ บริษัทควบคุมการก่อสร้าง ว่าอย่างไร ก็เชื่อตามนั้น 4. ต้องเพิ่มบทบาทของกรมโยธาฯ มาเป็นผู้กำกับและควบคุม
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า 5. พบช่องว่างระหว่างการทำงานมากเป็นอย่างยิ่งตลอดการดำเนินการ ซึ่งช่องว่างเหล่านั้น ก็คือสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้ ดังนั้น จึงควรจำเป็นต้องอุดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้ 6. ตามพระราชบัญญัติการควบคุมอาคาร จะต้องถูกรื้อใหม่หมด รวมถึงกฎกระทรวงต่างๆ หลายฉบับที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ทันสมัยเพียงพอแล้ว ซึ่งต้องมีการแก้ และปฏิรูป ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ และ 7. พบว่าการคัดเลือกบริษัทออกแบบ และบริษัทควบคุมการก่อสร้าง ใช้มาตรฐานไม่เท่ากัน เพราะให้น้ำหนักกับบริษัทออกแบบมาก ถึง 30% ในขณะที่บริษัทควบคุมการก่อสร้าง ที่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย ได้รับการใส่ใจน้อยกว่า คือ 10% ในรื่องประสบการณ์ ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้งสองอย่างข้างต้น จะต้องเท่ากัน
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ. ยังฝากคำถามเพิ่มเติมไปอีก 2 ข้อ คือ 1. สมมติว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับหน่วยราชการอื่น สตง.จะมีการให้คำแนะนำอย่างไร และ 2. ระหว่างการก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่พบสิ่งปกติเลยหรือ จึงสอบถามไปว่า หากพบสิ่งผิดปกติควรทำอย่างไร เพราะสิ่งที่เห็นชัดเจนคือการแก้ไขแบบ อย่างเช่น การเปลี่ยนตำแหน่งปล่องลิฟต์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ สตง.ไม่ควรคิดเองคนเดียว แต่ควรหารือกับหน่วยงานราชการอื่นเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่ทราบว่าทำไมถึงเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก ที่สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นเรื่องใหญ่
ด้าน นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวว่า มีการใช้งบประมาณซ้ำ 2 ครั้ง ในการออกแบบอาคาร และเปลี่ยนเปอร์เซ็นต์สัดส่วนของบริษัทออกแบบและบริษัทควบคุมการก่อสร้าง ทั้งยังมีการทำสัญญาเช่าที่ดิน ที่กินระยะเวลายาวนาน เป็นเงินกว่า 700 ล้านบาท จึงต้องเน้นย้ำถึงจุดประสงค์ของการประชุมคณะกรรมาธิการในครั้งนี้ เพื่อแก้ไขระเบียบ ในภาพรวมของการก่อสร้างอาคาร ซึ่งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หรือ พ.ร.บ.สภาวิศวกร
เมื่อถามถึงกรณีที่ รองผู้ว่าฯ สตง. ระบุ ผู้ว่าฯ สตง. มาที่อาคารรัฐสภาในภารกิจราชการลับ แต่กลับไม่มาชี้แจงใน กมธ. นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไปแต่งตัวมาใหม่ ครั้งหน้าอย่างไรก็ต้องมา ส่วนที่ไม่มาชี้แจงเพราะข้อมูลไม่ครบ หรือไม่พร้อมชี้แจงหรือไม่นั้น ตนขี้เกียจเดา อย่างไรก็ต้องมา ต้องรับผิดชอบ เป็นผู้นำต้องมาตอบเอง ตนบอกไปแล้ว ให้ลูกน้องมาตอบ ตนเองรับได้ในครั้งแรก แต่อย่างไรก็ต้องมาตอบ เพราะเป็นบทบาทของผู้นำและเรื่องจริยธรรม
เมื่อถามว่า หากในครั้งหน้าไม่มาจะทำอย่างไร นายปลอดประสพ กล่าวว่า ก็คงต้องไปเจอที่บ้าน ไม่เห็นยากเลย เรื่องนี้มีความผิดพลาดแน่นอน ไม่งั้นตึกคงไม่พัง คนคงไม่ตาย ไม่ต้องไปโทษฟ้าโทษดิน ต้องทำเพื่อให้ลูกหลานข้างหน้า อยู่ได้อย่างปลอดภัย