xs
xsm
sm
md
lg

สว.สำรองแฉอำนาจเจริญต้นทางโพยฮั้ว มีนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ดูแล ขู่ จนท.ขวางดีเอสไอระวังเจอคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คณะ สว.สำรอง” เผย จ.อำนาจเจริญ เป็นพื้นที่ต้นทางรวมโพยฮั้ว สว. มีนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ดูแล ก่อนส่งให้ผู้มีอำนาจคัดคนเป็น สว. ขู่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ความร่วมมือดีเอสไอระวังติดคุก

วันนี้ (7 พ.ค.) กลุ่มคณะ สว.สำรองนำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว กล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ทำหนังสือลับถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย พบกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนสิทธิพิเศษ (ดีเอสไอ) บังคับอดีตผู้สมัคร สว. 2 คน ให้ยอมรับว่า ฮั้ว สว. ที่ จ.อำนาจเจริญ ว่า จ.อำนาจเจริญ ได้มีการขยับในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีกระบวนการในการจัดขบวนการฮั้ว สว.ค่อนข้างชัดเจน มีกลุ่มนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่เข้าไปบงการ มีทั้งข้าราชการ ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เข้าไปร่วมด้วย อีกทั้งมีการเกณฑ์คนไปสมัครคัดเลือกเป็น สว. เพื่อบริหารจัดการแบ่งกลุ่มดูแลกันเป็นรายอำเภอ อีกทั้งมีการจ่ายเงินจ่ายทองกันด้วย

พล.ต.ท.คำรบ กล่าวว่า ใน จ.อำนาจเจริญ มีนักการเมืองใหญ่ดูแล นอกจากจะดูแลในจังหวัดดังกล่าวแล้ว ก็ยังเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการการฮั้ว สว.ของกลุ่มขบวนการนี้ทั้งประเทศด้วย เนื่องจากพบข้อมูลว่า กลุ่มเครือข่ายดังกล่าวที่เป็นตัวแทนในแต่ละจังหวัดจะต้องส่งรายชื่อเข้ามาพร้อมหมายเลข เพื่อที่จะให้กลุ่มผู้บงการได้กำหนดว่าใครควรจะเป็น สว. ซึ่งต้องส่งผ่านนักการเมืองใหญ่ ใน จ.อำนาจเจริญ โดยเป็นคนรวมโผเพื่อส่งต่อให้ผู้มีอำนาจเลือกว่าเบอร์ไหน ใครควรจะได้เป็น สว. แล้วค่อยมารวมเป็นตารางโพย เพราะฉะนั้นคำว่าโพยมีที่มาจาก จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทางในการรวมโพยทั้งหมด


“เรื่องนี้มีการสืบสวนสอบสวนจากดีเอสไอ ใกล้เข้าไปเรื่อยๆ จึงมีการร้อนตัว ซึ่งพบว่ารองผู้ว่าฯ จ.อำนาจเจริญ ก่อนหน้านี้วันที่ 13 มี.ค. ได้ทำบันทึกฉบับหนึ่งไปถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือว่า ถ้าหากดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบจะวางแนวทางว่าอย่างไร คงจะร้อนตัวตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว แล้วกระทรวงมหาดไทยเองก็มีการยกร่างหนังสือฉบับหนึ่งที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติของอำเภอหรือจังหวัดต่างๆแต่ปรากฏว่าหนังสือฉบับนั้นตนก็เห็นฉบับร่างเช่นกัน

“แต่ที่มาที่ไปก็มาจากเหตุการณ์ที่ จ.อำนาจเจริญ ผมขอฝากไปถึงข้าราชการฝ่ายปกครอง รวมถึงตำรวจในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 22(17) นายตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ต้องปฏิบัติตาม และให้ความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ หากได้รับการประสานงานร่วมมือ ท่านต้องให้ความร่วมมือ แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ ขัดขืน ขัดขว้างหรือมีพฤติการณ์ช่วยเหลือผู้ที่กระทำความผิดให้ได้รับโทษน้อยลง ก็จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าว และนำไปสู่ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี อีกผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 เพราะฉะนั้น การที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ให้สัมภาษณ์ไปนั้นก็เป็นไปตามกฎหมายแล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น