“ภคมน” วอนรัฐสื่อสารตรงไปตรงมา หยุดขายฝันให้ข้อมูลด้านเดียว SEC เพิ่มการจ้างงานคนใต้ ยกบทเรียนอีอีซี ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์จริงหรือไม่
วันนี้ (7 พ.ค.) น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีว่า ร่างกฎหมาย SEC เป็นหนึ่งในกฎหมายที่รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการ (Fast-track) ไม่เพียงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เร่งด่วนจนประชาชนไม่ทันจะรับรู้และทำความเข้าใจ ตัวร่างกฎหมายเองก็ไม่ได้พูดอย่างละเอียดกับประชาชน โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่โครงการ
ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจ “สำนักงาน” ที่จะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมาย ในการเวนคืนที่ดินและจัดซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน หรือวิธีการอื่นได้ทั้งหมดแล้วแต่ความเห็นชอบของสำนักงาน การเอื้อให้มีการเปิดโรงงานที่อาจก่อปัญหามลพิษ ขยะอุตสาหกรรม ขยะสารพิษ ส่งผลกระทบข้างเคียงกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างมหาศาล อีกทั้งให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ได้ 99 ปีและเข้าออกประเทศไทยได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ที่สำคัญคือให้อำนาจในการเปลี่ยนผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน สามารถเปลี่ยนผังชุมชนชนบท ชุมชนเกษตรกรรม ให้กลายเป็นผังสีม่วงสำหรับนิคมอุตสาหกรรมได้
น.ส.ภคมน กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีความพยายามอธิบายกับประชาชนว่าหากโครงการ SEC เกิดขึ้น จะเกิดการจ้างงาน คนใต้จะมีงานทำ สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก ทำให้พ่อแม่พี่น้องในพื้นที่หลายคนคิดว่าหากโครงการเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องดี คนใต้จะไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้านไกลครอบครัว แต่ความจริงอีกด้านกลับไม่ถูกพูดถึงเลย เพราะในร่าง พ.ร.บ. SEC ระบุว่า 1. ให้ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ผู้ประกอบการสามารถนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาได้ แม้จะเกินจำนวนและเวลาที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 53) 2. อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพทุกประเภท ตามที่คณะกรรมการนโยบาย SEC กำหนด (มาตรา 54) และยังทำอาชีพสงวนของคนไทยได้ (มาตรา 58)
มีตัวอย่างการจ้างงานของโรงงานต่างชาติชาวจีนในจังหวัดระยอง ที่รัฐให้สิทธิพิเศษ BOI และสิทธิพิเศษอื่นๆ คล้ายกับโครงการนี้ ก็พบว่ามีการจ้างงานคนไทยเพียง 9.4% สุดท้ายกลายเป็นจ้างคนจีนเยอะที่สุด ทั้งที่เข้าประเทศด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวและวีซ่าทำงาน ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ MOU ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว ในเปอร์เซ็นต์ที่เยอะกว่าแรงงานไทย ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า คนในพื้นที่จังหวัดระยองได้อะไรจากการส่งเสริมการลงทุนแบบนี้ ที่สุดท้ายไม่เห็นการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้นจริง
ต้องย้ำว่า ตนไม่ได้คัดค้านการดึงแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะสูง แต่กังวลว่ารัฐบาลได้อธิบายเรื่องนี้ให้คนในพื้นที่เข้าใจแค่ไหน หรือเลือกจะให้ข้อมูลด้านเดียว ที่ผ่านมา ปัญหาคนต่างชาติใช้วีซ่าท่องเที่ยวและวีซ่านักศึกษามาทำงานในไทยจำนวนมากก็ยังไม่ถูกแก้ไข ดังนั้นภาพฝันที่ว่า SEC จะทำให้คนในภาคใต้มีงานทำมากขึ้น การจ้างงานจะกระจายมาถึงพื้นที่ อาจไม่เป็นจริง หากถอดบทเรียนจากพื้นที่ภาคตะวันออกมากางดู กฎหมายกำหนดเปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานคนไทยด้วยซ้ำ แต่พอเอาเข้าจริงนายทุนทำไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ยังไม่รวมถึงกรณีเปิดบริษัทมีการจ้างงาน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่กลับมีแค่สถานที่เปล่า ไม่มีการจ้างงานแรงงานแม้แต่คนเดียว แล้วรัฐจัดการอะไรได้หรือไม่
รองโฆษกพรรคประชาชน กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลประชาสัมพันธ์โครงการโดยขาดความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าว หรือแท้จริงไม่ได้สนใจข้อกฎหมายที่จะสร้างผลกระทบแก่ประชาชนในพื้นที่ ไหนๆ รัฐบาลก็มีธงชัดเจนว่าจะเร่งผลักดัน SEC ก็ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารความจริงกับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรอบด้าน อย่ามองข้ามบทเรียนความล้มเหลวในพื้นที่ EEC เพราะวันนี้คุณแค่เปลี่ยนชื่อโครงการ ย้ายจากภาคตะวันออกมาในพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่ได้พยายามจะแก้ไขความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเลย