“ธีระชัย” สับมาตรการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกิจมีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้าน สกัดสร้างโอกาสธุรกิจหน้าใหม่ แนะขยายฐานภาษีอย่างเป็นธรรม ตรวจสอบภาษีคนรวย ดึงเข้าระบบมากขึ้น ไม่ใช่รีดเลือดจากคนชั้นล่าง แนะ รมว.คลัง เรียนรู้หลักคิดนโยบายภาษี อย่าแค่เป็นนักบัญชี
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พปชร. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวถึงแนวคิดของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อบังคับคนทำธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเข้าระบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) โดยอาจกำหนดเป็นแวตประเภทที่ 2 อัตรา 1% ของรายได้ 1.5 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่า จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาทนั้น นายธีระชัยคัดค้านเห็นว่าเป็นนโยบายที่เฉือนเนื้อคนจนเพื่อเอาไปแปะให้คนรวยอันไม่เป็นธรรม
นายธีระชัย อธิบายว่า ข้อกำหนดปัจจุบันที่ยกเว้นบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องเข้าระบบแวต นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อเป็นกำลังใจให้คนรุ่นหนุ่มสาวเข้าไปเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงกำหนดภาระภาษีให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ดังนั้น แนวคิดของนายพิชัยที่จะรื้อกติกานี้ จึงเป็นนโยบายขยายฐานภาษีแบบ “บนลงล่าง” ที่มุ่งให้ชนชั้นล่างต้องแบกภาระภาษีมากขึ้น ส่วนคำอธิบายเหตุผลสนับสนุนว่าเพื่อแก้ปัญหาพ่อค้ารายย่อยไม่ยอมโตนั้นไม่น่ารับฟัง เพราะถ้าธุรกิจไปได้ดีขายได้มาก ผู้ประกอบการมีแต่ประสงค์จะขยายกิจการ เว้นแต่กรณีที่พ่อค้ารายใดมีเจตนาแตกบัญชีเพื่อให้รายได้ในแต่ละชื่อต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทนั้น ก็ต้องใช้วิธีตรวจสอบโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นรายๆ ไป
ทั้งนี้ นายธีระชัย เห็นว่า รัฐบาลที่ขยายฐานภาษีอย่างเป็นธรรมนั้น จะต้องเน้นนโยบายแบบ “แผ่กว้าง” ให้คนที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น รวมทั้งต้องให้คนรวยแบกภาระภาษีมากกว่าคนจน หรือนโยบายแบบ “ล่างขึ้นบน” ส่วนแนวคิดของรัฐบาลนี้ที่มุ่งรีดเลือดจากคนชั้นล่างโดยไม่บังคับให้คนชั้นบนต้องเข้ามาช่วยรับภาระอันเป็นปรัชญาปกติของรัฐบาลนั้น ถือเป็นนโยบายที่ผิดทฤษฎี
“ประชาชนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลมีการตรวจสอบเก็บภาษีจากคนรวยชั้นบนสุดอย่างครบถ้วนแล้วหรือยัง เพราะยังเห็นที่ดินว่างเปล่าแปลงใหญ่ราคาแพงที่อยู่ใจกลางเมืองหลายแห่งที่รัฐบาลยังปล่อยให้จัดชั้นเป็นที่ดินเกษตรกรรมเพียงแค่มีการปลูกต้นมะนาว” นายธีระชัย กล่าว
กรณีกระทรวงการคลังต้องการแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณนั้น นายธีระชัย แนะนำนายพิชัยประกาศยุติโครงการแจกเงินหมื่น ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำทันทีเป็นสิ่งแรก แล้วหาทางประหยัดรายจ่ายโดยการคุมจำนวนและลดงานหน้าที่ของข้าราชการอย่างเข้มงวด หลังจากนั้น ควรเพิ่มอัตราแวตทั่วไปจาก 7% ขึ้นเป็น 8% โดยเพิ่มพิเศษสำหรับสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยขึ้นเป็น 10% ยันเพดาน แทนที่จะใช้นโยบายภาษีแบบ “บนลงล่าง” ตามที่แถลงข่าวไว้ และขอแนะนำให้ศึกษาเรียนรู้หลักการคิดนโยบายภาษีไว้ด้วยเสริมเพิ่มเติมจากความรู้ด้านบัญชี เพราะจำเป็นสำหรับประเทศที่ต้องฝ่าพายุสมบูรณ์แบบที่ตั้งเค้ารออยู่ข้างหน้า