เมืองไทย 360 องศา
อีกไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็จะรู้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะมีชะตากรรมแบบไหน หากคณะกรรมการแพทยสภาฯ พิจารณาผลสอบสวนจริยธรรมแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ และแพทย์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ของ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ ที่แต่งตั้งโดยแพทยสภาฯ โดยตามกำหนดจะมีการประชุมกันในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเลื่อนมาแล้วจากวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา หลังจากมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมเข้ามา
แน่นอนว่าการยื่นเอกสารเพิ่มเติมดังกล่าว หลายคนมองออกว่าเป็น “แท็กติก” ของฝ่ายที่ถูกสอบสวนเพื่อต้องการให้ยืดเวลาออกไปหรือเปล่า และในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ก็เช่นเดียวกันถูกจับตามองว่าจะมีการเลื่อน หรือนำเข้าพิจารณาได้หรือไม่
แต่ถึงอย่างไรหากมีการเลื่อน หรือนำเข้าพิจารณาไม่ทัน วันที่ 8 พฤษภาคม ก็ย่อมต้องถูกสังคมตั้งคำถาม รวมไปถึงจะหมายรวมถึง “เครดิต” ของแพทยสภา จะต้องถูกกระทบกระเทือน หรือไม่
นาทีนี้สำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร ถือว่ากำลังเจอแรงกระแทกจากภายนอก จนเกิดความกดดันอย่างหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นับตั้งแต่ที่เขามีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นยุคที่เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 เป็นต้นมาเลยก็ว่าได้ คราวนี้ถือว่าน่าจะ “หนักที่สุด” เพราะเป็นช่วงที่เขาและพรรคเพื่อไทยกำลัง “เสื่อมความนิยม” ลงไปมาก ไม่เหมือนกับเมื่อหลายปีก่อน ที่แม้ว่าจะทำผิด หรือมีข้อหา “ทุจริต” อย่างไร แต่จะได้ยินสังคมบอกว่า “โกงได้ไม่เป็นไร ถ้ามาแบ่งกัน” จนต้องหลับตาข้างหนึ่งให้อภัย เพราะหลายคนเชื่อว่า นายทักษิณ สร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมือง
แต่คราวนี้หลังจากพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งจนต้อง “กระบัดสัตย์” กลืนน้ำลาย ต้องมาจับมือกับ “คนทำรัฐประหาร” ตั้งรัฐบาลผสม และต่อมามีการผลักดันให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่ต้องพิจารณากันก็คือ ผลงานของรัฐบาล และผลงานของนายกรัฐมนตรี ที่เป็น “ลูกสาว” ของนายทักษิณ ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่า น่าผิดหวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่อง “ความรู้ความสามารถ” และยังต้องมีเจอกับศึกหนักด้าน “วิกฤติเศรษฐกิจ” ทั้งจากภายนอกและภายใน จนมีการหวั่นวิตกกันว่า “จะรอดหรือไม่รอด” ภายในปีนี้หรือไม่
ด้วยผลงานและความสงสัยเรื่องความรู้ความสามารถดังกล่าว จึงส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นต่อพรรคเพื่อไทย และลามไปถึง นายทักษิณ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะกลายเป็นว่า หลายนโยบายหลักที่เคยหาเสียงเอาไว้กลับทำไม่ได้ หรือไม่เข้าเป้า
ขณะเดียวกัน หากมองในมุมการเมืองมันก็ทำให้ “กำแพงเหล็ก” จากชาวบ้านที่เคยหนุนหลังก็ต้อง “อ่อนยวบลง” กลายเป็นพรรคที่ถูกมองว่า “ขี้คุย” ไม่เจ๋งจริง เพราะทุกอย่างพิสูจน์กันด้วยผลงาน และยิ่งนานไป หากยังแก้ไขอะไรไม่ได้ มันก็คือหายนะนั่นเอง
เมื่อวกกลับมาที่เรื่องการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ก็เช่นเดียวกัน หากผลงานของรัฐบาล และภาวะผู้นำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นไปตามที่คาดหวัง เชื่อว่าจะไม่ต้องเจอกับแรงกดดันมหาศาลแบบนี้ อีกทั้งด้วยลักษณะอาการที่เรียกว่า “ท้าทายกฎหมาย” ของนายทักษิณ ยิ่งทำให้หลายคนหมั่นไส้ เพราะมองว่าหากเขายอมติดคุกเสียบ้าง หลังจากมีพระราชทานอภัยโทษ เหลือโทษจำคุกแค่ 1 ปี แล้ว เชื่อว่าชาวบ้านทั้งที่เคยสนับสนุนแบบสุดลิ่ม หรือคนทั่วไปก็จะชื่นชม
แต่นี่กลับมีลักษณะอาการที่มองแล้วเป็น “คนเหนือกฎหมาย” เป็น “อภิสิทธิ์ชน” กำลังย้อนกลับมาทำลายตัวเองจนได้
สำหรับการออกมารักษาอาการที่โรงพยาบาลตำรวจก็เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าในฐานะนักโทษ การที่จะสามารถออกมารักษาอาการนอกเรือนจำได้ สิ่งแรกก็คือต้องมีอาการ “เจ็บป่วยขั้นฉุกเฉิน” และที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์รองรับได้ และหากวงเล็บกันอีกก็ได้ นั่นคือ “นักโทษคนนั้นต้องสำคัญ” อีกด้วย ถึงจะได้ออกมารักษาในโรงพยาบาลของรัฐข้างนอกเรือนจำได้ แต่เหตุผลสำคัญคือ ต้อง“ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ”
กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ในตอนนั้น หากฟังจากคำชี้แจงจากโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เปิดเผยว่า เมื่อคืนก่อนหน้านั้นแพทย์โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ได้ตรวจอาการ นายทักษิณ พบว่ามีอาการป่วย จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ซึ่งทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอ จึงต้องส่งตัวมารักษาตัวฉุกเฉิน
และก่อนหน้านั้นทางโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากพัศดีเวร ว่า นายทักษิณ มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดับโลหิตสูง ออกซิเจนต่ำ และต้องระวังในเรื่องโรคหัวใจ
อย่างไรก็ดี เรื่องอาการป่วยสำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร ที่อายุเกิน 70 ปี ก็พอเข้าใจได้ แต่คำถามก็คือ มีอาการป่วยต้องรักษาอาการต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน และที่สำคัญต้องเป็นอาการ “ป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงชีวิต” เท่านั้น ถึงจะได้รับอนุญาตมารักษานอกเรือนจำที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ
ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลูกสาวของ นายทักษิณ ย้ำว่า “พ่อเธอป่วยจริงและเคยผ่าตัดด้วย” ซึ่งประเด็นป่วย อาจจะไม่เถียง อาจจะป่วยจริงก็ได้ ความดัน เบาหวาน หัวใจ หลายคนสามารถป่วยกันได้ แต่ประเด็นก็คือ มันเข้าขั้น “วิกฤติ” ถึงชีวิตหรือไม่ และทำไมถึงวิกฤติต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน แพทย์รักษาอาการไม่ทุเลาเสียที จนทำให้หลายคนแทบจะรู้จักแพทย์เจ้าของไข้คนนั้น ว่าเป็นใครเสียด้วยซ้ำไป เพราะอาจถือว่าไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริง
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเชื่อว่าสังคมก็คงรับรู้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ป่วยสาหัสแบบนั้น และมีการกระบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพียงแต่ว่าไม่อาจหาหลักฐานมายืนยันได้ เพราะมีเรื่องของ “เวชระเบียน”หรือ “ข้อมูลของคนไข้” ที่ถูกอ้างว่าเป็นความลับ ทุกอย่างต้องอยู่ในมือแพทย์
แต่เมื่อกระบวนเดินทางมาจนถึงการสอบสวนของ “แพทยสภา” ที่เหมือนกับ “แพทย์สอบแพทย์” ทุกอย่างจึงรู้ไส้รู้พุงกัน เพียงแต่ว่าจะเปิดเผยออกมาหรือไม่ แค่นั้น ทุกอย่างที่เป็นการักษาพยาบาลทางการแพทย์ล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ และเมื่อได้ฟังหลักการจาก นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสอบสวนของแพทยสภา ในการสอบสวนแพทย์ที่รักษา (นายทักษิณ ชินวัตร) มีขั้นตอนคือ ลำดับแรกต้องได้ข้อมูลบุคคลก่อน ต้องได้ชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งจากฝ่ายกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับการรับคนไข้ (นายทักษิณ ชินวัตร) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ต่อเนื่องถึง 23 สิงหาคม 2566 ว่า มีขั้นตอนอย่างไร คนไข้ป่วยหนักหรือไม่ มีการส่งตัวมาจากราชทัณฑ์ (เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร) ด้วยรถอะไร จนมาถึง รพ.ตำรวจ มาอย่างไร ใครเป็นคนสั่งการ
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า หากว่ากันตามหลักการแพทย์ มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะการจะบอกว่าคนไข้วิกฤตหรือไม่วิกฤต ต้องตรวจคนไข้ก่อน ถ้าไม่ตรวจเอง ก็ต้องให้ห้องฉุกเฉินตรวจ ไม่ใช่มาตรวจที่ห้องพิเศษ ซึ่งไปที่ห้องพิเศษ ก็ผิดกฎกระทรวงอีก เพราะกฎกระทรวงบอกว่า หากส่งตัวแล้ว ห้ามอยู่ห้องพิเศษแยกจากผู้ป่วยอื่น ที่ตรวจสอบอยู่ตอนนี้ หากพบว่าแพทย์ที่ตรวจนายทักษิณไม่ได้มีอาการวิกฤตจริง ขั้นตอนตามปกติ ก็ต้องส่งตัวกลับไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ที่ตัวนายทักษิณไม่ต้องการแน่นอน อันนี้หากไม่วิกฤต เป็นปัญหาจริยธรรม เพราะว่าไม่วิกฤต แต่ไปบอกว่าวิกฤต แพทย์คนที่ตรวจและรับรอง อันนี้ผิดจริยธรรม
“ถ้าไม่ป่วยวิกฤตจริง การประชุมแพทยสภา วันที่ 8 พ.ค. ก็จะมีปัญหากับแพทย์ที่ถูกสอบสวนอยู่ และจะมีผล ไปถึงวันที่ 13 มิถุนายน ( วันนัดไต่สวนของศาลฎีกาฯ) หากความปรากฏต่อศาลฎีกา ว่า การเอาตัวผู้ต้องขังออกจากเรือนจำมารักษา มีข้อมูลที่เป็นเท็จ มีการกระทำผิดเป็นขบวนการ เพื่อช่วยนักโทษให้พ้นคุก การที่อยู่ รพ.จึงไม่ถือเป็นการจำคุกตามคำพิพากษา ผมคงไม่ไปก้าวล่วงว่าผู้พิพากษาจะสั่งว่าอย่างไร แต่คงนึกภาพออกว่าผลสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น”
ดังนั้น การพิจารณาของแพทยสภา หากเกิดขึ้นจริง ในวันที่ 8 พฤษภาคม ถือว่าสำคัญมาก ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่กระทบกันหลายคน เริ่มจากหากผลออกมาว่า อาการป่วยของ นายทักษิณไม่ได้เข้าขั้นวิกฤตจริง หรือไม่ได้วิกฤตต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน ก็ย่อมมีผลเรื่องจริยธรรมของแพทย์ และจะลามไปถึงไปถึงหลายคนที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญยังมีผลต่อการไต่สวนของศาลในวันที่ 13 มิถุนายน นี้ด้วยว่าจะออกมาแบบไหน แต่จะชี้ชะตา นายทักษิณ ชินวัตร จนน่าวิตกแน่นอน !!