ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรี ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค ครั้งที่ 7 (7th APEC Human Resources Development Ministerial Meeting: HRDMM)
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติพิจารณาตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) (7th APEC Human Resources Development Ministerial Meeting: HRDMM) (การประชุม HRDDMM) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดกับหลักการ ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ รง. ดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทย (ไทย) ได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ | (จะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 258 ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลี)
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) (7th APEC Human Resources Development Ministerial Meeting: HRDMM) (การประชุม HRDMMM) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ โดยการประชุม HRDMM ครั้งที่ 7 มีกำหนดขัดขึ้นขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2568 ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐเกาหลีเป็นเจ้าภาพและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้น ในหัวข้อ "ตลาดแรงงานที่ยั่งยืนและงานแห่งอนาคต" เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการปรับ โครงสร้างตลาดแรงงาน การคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบาง และการเตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคตผ่านนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และพร้อมรับมือ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปตลาดแรงงานที่สอดคล้องกับแรงงานยุคใหม่ โดยมีประเด็นการหารือ 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและมีพลวัต เช่น ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นแก้ไขความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงาน และ (2) การตอบสนองต่องานในอนาคตผ่านนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก เช่น ปรับระบบอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมและนายจ้าง จัดให้มีบริการจัดหางานที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงได้ โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) เห็นว่า (1) ไม่ขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ และ (2) ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและโดยที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าข่ายลักษณะเรื่องที่ให้เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
“ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคในการพัฒนานโยบายแรงงานที่ยืดหยุ่น ครอบคลุมและทันสมัย ซึ่งสามารถนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการจ้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และการลดความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมโอกาสให้กับกลุ่มแรงงานเปราะบาง ทั้งนี้ ยังสร้างแนวทางให้ภาครัฐสามารถออกแบบนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต” นายคารม ระบุ