xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเรียกช้อยมาเก็บฉากรัฐมนตรี?! "เรืองไกร" ยื่นสอบปม "พีระพันธุ์" ยังเป็นกรรมการ 3 บริษัท ** รอดู “น้ำยา”แพทยสภา จากกรณี ทักษิณ ชั้น 14 วันที่ 8 พ.ค.นี้ ที่ประชุมแพทยสภา จะมีการพิจารณาผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ - พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - ทักษิณ ชินวัตร
ข่าวปนคน คนปนข่าว


++ เตรียมเรียกช้อยมาเก็บฉากรัฐมนตรี?! "เรืองไกร" ยื่นสอบปม "พีระพันธุ์" ยังเป็นกรรมการ 3 บริษัท

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน งานเข้ารัวๆ

จากปมถูกปูดยังถือหุ้นบริษัท ตามด้วยถูกคุ้ยแจกถุงยังชีพ และแล้วก็มาถึงคิว "นักร้อง" นามไม่ธรรมดา "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" เคลื่อนไหวขยี้ซ้ำ

เรียกว่า ช่วงนี้ "พีระพันธุ์" โดนหมัดชุดจุกๆ ดูทรงจะพยุงตัวไม่ให้ร่วงลงกองกับฟื้นให้กรรมการนับสิบได้นานแค่ไหน ยังเป็นคำถาม

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
เพราะเหตุผลที่ “เรืองไกร” ไดัยื่นกกต. ตรวจสอบว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพีระพันธุ์ มีเหตุสิ้นสุดลงหรือไม่! นั้นหนักหนาเอาการ
หนักหรือไม่!? ลองพิจารณาที่ “เรืองไกร” ยื่นไว้ดังนี้... ข้อ 1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) และ มาตรา 187 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187”
“มาตรา 187 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด”

ข้อ 2. “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 มาจนถึงปัจจุบัน ในรัฐบาลที่มี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้ทำสัญญาจัดการหุ้นส่วน หรือหุ้นของรัฐมนตรี ไว้กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) รวมจำนวน 4 บริษัท คือ หุ้นบริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด จำนวน 588,500 หุ้น หุ้นบริษัท พี แอนด์ เอส แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จำนวน 46,500 หุ้น หุ้นบริษัท รพีโสภาค จำกัด จำนวน 22,000 หุ้น หุ้นบริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด จำนวน 1,000 หุ้น

ข้อ 4. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 จากการขอข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังคงเป็นกรรมการอยู่ 3 บริษัท ก่อนที่จะมีการลาออกในภายหลัง จำนวน 2 บริษัท ดังนี้

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนว่า มีกรรมการออก 2 คน คือ (1) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางสาว…

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนว่า มีกรรมการออก 3 คน คือ (1) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางสาว… (3) นางสาว… (โดยมีข้อสังเกตว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการผู้ขอจดทะเบียนตามแบบ บอจ.1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 และ มีแบบ บอจ.4 แนบด้วย)

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกหนังสือรับรองว่า บริษัท รพีโสภาค จำกัด ยังมีกรรมการอยู่ 2 คน คือ (1) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค โดยระบุว่า จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทได้ คือ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท

ข้อ 5. จากเอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาจเห็นได้ว่า หลังจากที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 นั้น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ยังคงเป็นกรรมการบริษัท ทั้ง 3 แห่งอยู่ หลังจากเป็นรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้เห็นได้จากการจดแจ้งชื่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ออกจากกรรมการบริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด และบริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด ตามคำขอ ลงวันที่ 30 ต.ค. 2567 และตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 ก็ยังรับรองว่า บริษัท รพีโสภาค จำกัด ยังคงมีกรรมการอยู่ 2 คน คือ (1)พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (2) นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค

ข้อ 6. จากการย้อนไปดูบัญชีทรัพย์สินฯของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 พีระพันธุ์ ได้แจ้งว่า มารดาชื่อ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค โดยไม่ได้ระบุอายุ ไม่ได้ระบุอาชีพ และทำเครื่องหมายขีดไว้ในช่อง ตาย ไว้ด้วย

แต่ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 ยังปรากฏชื่อ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค เป็นกรรมการของ บริษัท รพีโสภาค จำกัด อยู่ด้วย จึงมีเหตุอันควรสงสัย และควรตรวจสอบเพิ่มเติมว่า นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค ที่เคยแจ้งว่า ตาย แล้ว กับนางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็นกรรมการของบริษัท รพีโสภาค จำกัด อยู่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 เป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ !?

ข้อ 7. จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและ จากป.ป.ช. จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ตรวจสอบเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำพิพากษาว่า กรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เคยเป็นหรือยังคงเป็นกรรมการทั้ง 3 บริษัทข้างต้น ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังจากวันที่ 3 กันยายน 2567 นั้น จะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 187และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) หรือไม่

ข้อ 8. ทั้งนี้ ขอให้นำข้อมูลการลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ได้แจ้งต่อป.ป.ช. ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ประกอบกับหนังสือที่ นร 0503/ว(ร) 157 ลงวันที่ 5 เมษายน 2560 มาประกอบการพิจารณาด้วย

จากปมร้อนนี้ มีคำถามว่า “พีระพันธุ์” ยังจะได้ไปต่อ หรือต้องเรียกช้อยมาเก็บฉาก สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ต้องติดตามอย่ากระพริบตา !

นพ.อมร ลีลารัศมี
++ รอดู “น้ำยา”แพทยสภา จากกรณี ทักษิณ ชั้น 14

วันที่ 8 พ.ค.นี้ ที่ประชุมแพทยสภา จะมีการพิจารณาผลการสอบสวน ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ สอบสวนจริยธรรมแพทย์ รพ.ตำรวจ และ รพ.ราชทัณฑ์ ที่มี “ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี” กรรมการแพทยสภา เป็นประธาน กรณีการรักษาตัว “ทักษิณ ชินวัตร” ในช่วงที่เป็นนักโทษ ชั้น 14

ว่ามีอาการ “ป่วยวิกฤติจริง” หรือ “ป่วยทิพย์”

หากผลสรุป และมติของแพทยสภา ออกมาทางใดทางหนึ่ง ยอมมีผลต่อการพิจารณาไต่สวนของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ มากพอสมควร

ทักษิณ ชินวัตร
โดยเฉพาะถ้ามีการสรุปออกมาว่า กระบวนการรักษา และการออกหนังสือรับรองต่างๆ ของแพทย์ ทั้งของ รพ.ตำรวจ และ รพ.ราชทัณฑ์ ผิดปกติ เข้าข่ายจงใจช่วยเหลือ “ทักษิณ” แล้วละก็ ...

ผลที่จะตามมาคือ จะทำให้หนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง-พยานหลักฐานต่างๆ ที่ศาลฎีกาฯ สั่งให้ รพ.ตำรวจ-กรมราชทัณฑ์-รพ.ราชทัณฑ์ ส่งมาให้ศาลฎีกาฯ จะขาดน้ำหนัก-ความน่าเชื่อถือ ลงไปอย่างแน่นอน

การที่ศาลฎีกาฯ จะดำเนินการไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง ในกรณี “ทักษิณ” ไม่ได้ติดคุกจริงนั้น ได้เรียกความเชื่อมั่น ต่อ“อำนาจตุลาการ” ว่ายังเป็นเสาหลักของบ้านเมือง

เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมของ “ทักษิณ” เห็นชัดว่า ทั้งแทรกแซง ครอบงำ ครอบครอง พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่กฎหมายก็เอาผิดไม่ได้ โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง

ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้ากฎหมาย “กาสิโน” ผ่านสภา นั่นก็ชัดว่า บรรดาสส.ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ได้ตกอยู่ใต้ “อุ้งมือ” ของทักษิณ แล้วเช่นกัน

จึงเหลือแต่เพียง “อำนาจตุลาการ” ที่ยังเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนผู้รักความเป็นธรรมว่า จะจัดการกับ “ทักษิณ” ที่ถูกพิพากษาจำคุก แต่ไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว ได้หรือไม่

เช่นเดียวกับ “แพทยสภา” ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับ ความเชื่อถือสูงสุด จากสังคมและประชาชน จะมีความเห็น มีมติ จัดการกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีส่วน “ช่วยเหลือ” ทักษิณ อย่างไร

ที่ผ่านมา “จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ไปได้ข่าวเอ็กคลูซีฟ มาว่า... ผลสอบของคณะอนุกรรมการฯ เบื้องต้น เสนอให้สั่งพักใบอนุญาตแพทย์ รพ.ตำรวจ 2 คน และสอบเพิ่มเติมอีก 5 คน ทั้งแพทย์ รพ.ตำรวจ และ รพ.ราชทัณฑ์ และผลสอบคาดว่าจะหนักกว่า 2 คนแรก

ตามขั้นตอนดำเนินการ เมื่อที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการแพทยสภา มีมติออกมาอย่างไรแล้ว จะต้องนำเสนอต่อ สภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา ถ้าสภานายกพิเศษฯ ใช้อำนาจวีโต้-โต้แย้ง เรื่องจะต้องย้อนกลับมายัง คณะกรรมการแพทยสภา เพื่อลงความเห็นอีกครั้ง หากที่ประชุมแพทยสภา ลงมติ 2 ใน 3 ยืนยันมติเดิม ทางผู้ถูกร้องถ้าไม่เห็นด้วย ก็สามารถยื่นร้องต่อศาลปกครอง แต่ถ้าที่ประชุมแพทยสภา เสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ให้ยึดตามความเห็นของสภานายกพิเศษ

และคนที่เป็น สภานายกพิเศษฯ คือ รมว.สาธารณสุข โดยตำแหน่ง ซึ่งก็คือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ผู้ใกล้ชิด แนบแน่นกับ “ทักษิณ” นั่นเอง

มติแพทยสภา จะออกหัว ออกก้อย หรือ ออกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตรงจุดนี้ด้วย

จึงต้องจับตาว่า บทสรุปของแพทยสภา จะออกมาอย่างไร จะถูก “การเมือง” แทรกแซงหรือไม่ หรือจะเจอ “โรคเลื่อน” อีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเลื่อนจากวันที่ 10 เม.ย. เป็นวันที่ 8 พ.ค.มาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น