xs
xsm
sm
md
lg

“เอ็ดดี้ อัษฎางค์” ออกแถลงการณ์ยันใช้สิทธิปกป้องสถาบัน ปัดกลั่นแกล้งใคร หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง “ดร.พอล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อัษฎางค์ ยมนาค” ออกแถลงการณ์ยันวิจารณ์บทความ “ดร.พอล” ในฐานะประชาชนที่ต้องการปกป้องสถาบันด้วยข้อเท็จจริง ปัดกลั่นแกล้ง หรือขัดขวางเสรีภาพทางวิชาการ ส่วน กอ.รมน.ก็แจ้งความตามภารกิจหน้าที่ ชี้ศาลเคยออกหมายจับ แสดงว่ามีหลักฐานตามสมควร อัยการสั่งไม่ฟ้องเป็นคนละขั้นตอน ไม่ได้แปลว่าไม่ผิดโดยสิ้นเชิง เรียกร้องทุกฝ่ายเคารพกระบวนการยุติธรรม หยุดใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

จากกรณีที่อธิบดีอัยการภาค 6 มีคำสั่งไม่ฟ้อง ดร.พอล แชมเบอร์ส (Dr.Paul Chambers) นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ชาวอเมริกัน ในคดีที่ พ.อ.มงคล วีระศิริ หัวหน้าแผนกกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองบริหารงานบุคคล กอ.รมน.ภาค 3 ได้แจ้งความดำเนินคดีในหาข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหานําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2), 20 และพนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกจะส่งสํานวนพร้อมความเห็นไปยังผู้บัญชาการตํารวจภูธร ภาค 6 เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งในคําสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 นั้น

ล่าสุด วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.40 น.ในเฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์” ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ซึ่งเคยแปลบทความของ ดร.พอล แชมเบอร์ส ประกอบการแสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก จนนำไปสู่การแจ้งความดำนเนินคดี ดร.พอล มีการโพสต์ข้อความเป็นแถลงการณ์ ดังนี้

แถลงการณ์ เรื่อง ข้อเท็จจริงกรณีคดี ดร.พอล แชมเบอร์ส และการแสดงออกเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า อธิบดีอัยการภาค 6 มีคำสั่งไม่ฟ้อง ดร.พอล แชมเบอร์ส ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ โดยมีการตีความจากบางฝ่ายว่าการแจ้งความโดยผู้ร้อง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการกลั่นแกล้งหรือจำกัดเสรีภาพทางวิชาการนั้น

ข้าพเจ้าขอเรียนชี้แจงดังนี้

1. การแจ้งความของ กร.อมน.มิได้เป็นการกลั่นแกล้ง หากแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ความมั่นคงภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการปกป้องความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

2. ศาลได้เคยพิจารณาออกหมายจับ และไม่อนุญาตให้ประกันตัว ดร.พอล ย่อมแสดงให้เห็นว่าคดีมีหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อถือ

กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยประกอบด้วยหลายขั้นตอน โดยศาลใช้หลักฐานเบื้องต้นในการพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน ขณะที่อัยการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาคดีว่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะนำเข้าสู่ศาลหรือไม่

คำสั่งไม่ฟ้องจึงเป็นผลจากการพิจารณาในคนละขั้นตอน มิได้หมายความว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดโดยเด็ดขาด

3. ข้าพเจ้าทำหน้าที่ของ “ประชาชนคนหนึ่ง” ที่ไม่ได้ใช้ความเกลียดชังเป็นฐาน แต่ยืนบนหลักกฎหมายและความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดสินใครว่า “ผิด” แต่ตั้งคำถามและเคลื่อนไหวด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผล

สิ่งที่ข้าพเจ้าปกป้องไม่ใช่แค่พระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคล แต่คือสถาบัน ซึ่งอยู่ในฐานะรากฐานของความมั่นคงของชาติ

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50 (2) ที่กำหนดว่า
“บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือมีเจตนาร้ายต่อบุคคลใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นการดำเนินการภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและพันธกิจของหน่วยงานด้านความมั่นคงโดยชอบ

การที่ข้าพเจ้าถูกพาดพิงหรือโจมตีว่า “ปลุกปั่น” หรือ “บิดเบือนข้อเท็จจริง” จึงเป็นการกล่าวหาที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และอาจเข้าข่ายเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีเจตนาดีต่อสถาบันหลักของชาติ

4. ข้าพเจ้ายืนยันว่า ไม่เคยประสงค์ร้ายต่อเสรีภาพทางวิชาการ หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อมั่นว่า “เสรีภาพ” ต้องมาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ” โดยเฉพาะเมื่อนำเสนอความคิดเห็นในที่สาธารณะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีสถานะเป็นที่เคารพสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ

การเรียกร้องความรับผิดชอบ หรือการทวงถามต่อข้อเท็จจริง จึงมิใช่การจำกัดเสรีภาพ แต่เป็นการใช้อำนาจของประชาชนภายใต้กฎหมาย

5. ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้คดีนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือโจมตีผู้มีความเห็นต่างด้วยความอคติ

และขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าจะยังคงยึดมั่นในการใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการปกป้องสิ่งที่เป็นรากฐานของแผ่นดินไทย

ด้วยความเคารพ
อัษฎางค์ ยมนาค
2 พฤษภาคม 2568

อนึ่ง ก่อนหน้านั้น นายอัษฎางค์ ได้โพสต์ข้อความตั้งคำถามว่า พอล แชมเบอร์: นักวิชาการ หรือ CIA พร้อมระบุว่า ดร.พอล แชมเบอร์ เป็นนักวิชาการของ Center of ASEAN Community Studies คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เขียนบทความมากมายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสถาบันกษัตริย์ กับความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือนและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

“โพสต์ของผมที่ถูก กมธ.ทางทหารจากพรรคประชาชน (ซึ่งเรารู้ว่าพวกเขาคิดยังไงต่อสถาบันฯ) อ้างว่า กอ.รมน.ใช้เป็นสารตั้งต้นในการฟ้องร้องนั้น ไม่ได้มีเนื้อหาตรงกับที่ผมโพสต์ไว้แต่อย่างใดเลย (บทความที่ถูกอ้างถึงไม่ใช่ที่ปรากฏในโพสต์ของผม) อย่างไรก็ตาม ผมพบอีกหนึ่งตัวอย่าง แต่ช่วยกันแคป website หน้านี้ไว้ เพราะเดี๋ยวเป็นประเด็นขึ้นมาก็จบลบทิ้งอีก” นายอัษฎางค์ระบุ พร้อมแนบลิงก์บทความของ ดร.พอล ซึ่งมีเนื้อหาที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ต่อกองทัพ


กำลังโหลดความคิดเห็น