สถ. มท. เปิดฟังความเห็น ร่างกม.บําเหน็จบํานาญขรก.ท้องถิ่น ที่ยกร่างยุครัฐบาลลุง "เพิ่มเติม" เหตุประสบปัญหาขาดแคลนเงินจ่าย หลัง "กฤษฎีกา" เสนอแนะ แนวทาง/มาตรการ ลดรายจ่าย "กองทุนบําเหน็จบํานาญฯ" ในระยะยาว เผยเจตนารมย์หวัง "ขยายเพดานอัตราการส่งเงินสมทบ" เข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินร้อยละสิบ เป็นหลักประกันจ่าย ได้ในระยะยาว เพื่อดํารงชีพยามเกษียณอายุราชการ เผย สถ. ฟังเพิ่มเติม เฉพาะ ม.32 "การกําหนดอัตราเงินบํานาญปกติที่ได้รับ ให้จํากัดจํานวนอย่างสูงไม่เกินเงินเดือน เดือนสุดท้าย"
วันนี้ (2 พ.ค.2568) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้า ภายหลัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ยกร่าง "แก้ไข" พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บําเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.บำเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500
หลัง สถ.ได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ระหว่าง 20 มิ.ย. - 9 ก.ค.2565
โดยมุ่งหวังที่จะ "ขยายเพดานอัตราการส่งเงินสมทบ" เข้าเป็นกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินร้อยละสิบ เพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายบําเหน็จบํานาญให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น รวมถึงเป็นหลักประกันในการดํารงชีพเมื่อยามเกษียณอายุราชการ
ล่าสุด สถ. มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เพื่อแจ้งท้องถิ่น ขอรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ "เพิ่มเติม" ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. - 30 พ.ค.2568
มีหลักการว่า หลังจากได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมาย ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี
พบว่า สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพิจารณาแนวทางหรือมาตรการอื่นเพื่อแก้ไขปัญหา ตามที่เสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างครบถ้วนรอบด้าน
โดยเฉพาะวิธีคํานวณบําเหน็จบํานาญตามพระราชบัญญัติฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มิได้กําหนดให้ จํากัดบํานาญปกติอย่างสูงไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย ทําให้ผู้รับบํานาญปกติมีสิทธิได้รับบํานาญเกินเงินเดือน เดือนสุดท้าย
ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือนและทําให้กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควร
"ซึ่งอาจมีความเหมาะสมกว่า หรือมีผลกระทบน้อยกว่า ให้สอดคล้องกับรายจ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น สถ.จึงเห็นควรกําหนดบทบัญญัติเพิ่มเติม เพื่อกําหนดให้จํากัดบํานาญปกติอย่างสูงไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย ไว้ในมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.บําเหน็จบํานาญ ขรก.ท้องถิ่น พ.ศ. 2500"
มีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมา กองทุนฯ "ประสบปัญหาขาดแคลนเงินที่จะจ่ายเป็นเงินบําเหน็จ บํานาญ" ให้แก่ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตําบล (อบต.) และพนักงานเมืองพัทยา
เนื่องจากมีการปรับอัตราบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ อบจ. เทศบาล อบต. และพนักงานเมืองพัทยา หลายครั้ง มีผลทําให้อัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น มีผู้ลาออกและเกษียณอายุ ราชการเป็นจํานวนมากทําให้ต้องจ่ายเงินบําเหน็จบํานาญเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีจํานวนเพิ่มมากขึ้น
ประกอบกับวิธีคํานวณบําเหน็จบํานาญ มิได้กําหนดให้จํากัดบํานาญปกติอย่างสูง ไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย ทําให้ผู้รับบํานาญปกติมีสิทธิได้รับบํานาญเกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือน
ด้วยเหตุนี้หากยังคงกําหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นหักเงินจากประมาณการรายรับในงบประมาณ รายจ่ายประจําปีเพื่อสมทบเข้าเป็นกองทุนในอัตราที่กําหนดโดยกฎกระทรวงไม่เกินร้อยละสาม
และไม่กําหนดให้จํากัดบํานาญปกติอย่างสูงไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของกองทุนบําเหน็จฯจนไม่อาจดําเนินงานต่อไปได้
จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อขยายเพดานอัตราการส่งเงินสมทบเพิ่มขึ้น โดยใช้ประมาณการรายรับในงบประมาณ รายจ่ายประจําปีเป็นฐานในการคํานวณให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน และเพื่อให้กองทุนฯ มีเงินกองทุนจ่าย ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ มาตรการสําคัญของกฎหมายฉบับนี้
(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6) กําหนดให้แก้ไขอัตราการส่งเงินสมทบเข้าเป็นกองทุนฯ ที่กําหนดโดยกฎกระทรวง จาก “ไม่เกินร้อยละสาม” เป็น “ไม่เกินร้อยละสิบ”
กําหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาทบทวน อัตราการส่งเงินสมทบที่กําหนดโดยกฎกระทรวงเพื่อให้คําแนะนําในการออกกฎกระทรวงได้
กําหนดระยะเวลาเพื่อรองรับการปรับอัตราการส่งเงินสมทบ โดยในสามปีแรกหลังจาก ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นหักเงินจากประมาณการรายรับในงบประมาณรายจ่ายประจําปี
เพื่อสมทบเข้าเป็นกองทุนในอัตราที่กําหนดโดยกฎกระทรวงไม่เกินร้อยละหก และหลังจากสามปีแรก ไม่เกินร้อยละสิบ และตั้งประเภทเงินนี้ไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจําปีของราชการส่วนท้องถิ่น
กําหนดให้กฎกระทรวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อน พ.ร.บ. บําเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม
"สถ. จะได้เปิดให้รับฟังความเห็นกรณี แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 32 "เท่านั้น" ว่าด้วย กําหนดอัตราเงินบํานาญปกติที่ได้รับให้จํากัดจํานวนอย่างสูงไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย"
ซึ่งกําหนดเพิ่มเติมตามข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการลดรายจ่ายของกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นในระยะยาว.
สำหรับจำนวนข้าราชการ/พนักงานสามัญในสังกัด อปท.ทั้ง 3 ระดับ ในเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) พบว่า สังกัด อบจ. 5,639 คน เทศบาล 23,368 คน และ อบต. 26,061 คน รวมทั้งสิ้น 55,068 คน.