เมืองไทย 360 องศา
อาจเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีก็เป็นได้ ที่นายกรัฐมนตรี ไม่มีการพูดถึงพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันแรงงานสากล วันที่ 1 พฤษภาคม โดยปีนี้ ปี2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่มีการกล่าวปราศรัย หรือไม่มีแม้กระทั่งการโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย อวยพร หรือให้กำลังใจ ให้ความหวังกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานออกมาให้เห็นเลย ตรงกันข้ามเธอกลับเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยเคยรับปากเอาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ที่บอกว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่นายกรัฐมนตรี “ชิ่งหนี” ไม่ยอมตอบคำถาม เพราะก่อนหน้านี้ แม้แต่ในยุคของ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปีที่แล้ว เขาก็ยังโพสต์ กล่าวถึงวันแรงงานแห่งชาติ โดยให้กำลังใจและสัญญาว่าไม่ลืมเรื่องการยกระดับเงินเดือน และค่าแรงขั้นต่ำ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุกันว่าเป็น “ยุคเผด็จการ” กลับมีการเผยแพร่คำปราศรัยกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกปี ต่อเนื่องกัน
แต่กลับกันในยุคของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่อ้างว่าเป็นยุคประชาธิปไตย กลับไม่มีกิจกรรมใดๆ ในวันแรงงานแห่งชติ หรือที่เรียกว่า “วันเมย์เดย์” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลก และไม่ค่อยเกิดขึ้นแบบนี้มาก่อน
มีรายงานว่า เมื่อตอนเช้าวันที่ 1 พฤษภาคม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นข่าวดีให้กับแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรี กลบเกลื่อนโดยได้หันไปรับไหว้ อสม.ที่มารอส่งขึ้นรถกลับทำเนียบรัฐบาล หลังเสร็จภารกิจเปิดงานโครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข “30 บาท รักษาทุกที่ อสม.มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs” เขตสุขภาพที่ 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคประชาชน มีการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ใช้แรงงาน ที่แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน แต่ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมร่วมกับผู้ใช้แรงงาน และมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการที่ดีขึ้น
โดยพวกเขาบอกว่า ได้เสนอร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำนวน 3 ฉบับเข้าสู่สภาฯแล้ว โดยให้ความสำคัญกับเนื้อหาหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. งานที่มีความมั่นคง คนทํางานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าอยู่ในรูปแบบใด เปลี่ยนระบบการจ้างงานรายวัน ให้เป็นรายเดือน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและเงินเฟ้อ นิยามวันทำงานให้สอดคล้องกับค่าจ้างรายเดือนที่แท้จริง
2. เพิ่มเวลาพักผ่อน ลดชั่วโมงทำงาน จำกัดชั่วโมงทำงานไว้ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้รับค่าล่วงเวลา เพิ่มวันลาพักผ่อนขั้นต่ำทันทีเป็น 10 วันต่อปี จากเดิม 6 วัน
3. เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จัดให้มีพื้นที่เก็บนมในสถานที่ทำงาน ห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ หรือสถานภาพ สิทธิลาเพื่อดูแลสมาชิกคนสำคัญในครอบครัว 15 วันต่อปี และสิทธิลา เนื่องจากมีประจำเดือน 3 วันต่อเดือน โดยไม่หักเป็นวันลาป่วย
ส่วนกลุ่มแรงงานอื่นๆ ที่ร่วมทำกิจกรรมในวันนี้ นำโดย สรส. และ สสรท. ได้เคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมาถึงบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.10 น. และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำค้อนโฟม ทุบโมเดลกาสิโน และโมเดลถังแก๊ส แสดงออกว่า ไม่เห็นด้วยกับกาสิโน และสะท้อนปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้นในปัจจุบัน และค่าแรงไม่พอค่าใช้จ่าย
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสรส. เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ พร้อมข้อเรียกร้องเร่งด่วน 7 ข้อ และข้อเรียกร้องที่เป็นข้อเสนอเดิมช่วงหลายปีที่ผ่านมา 15 ข้อ ผ่าน นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
สำหรับข้อเรียกร้องเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ ร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 2.หยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกหลักของรัฐในการทำหน้าที่จัดบริการสาธารณะด้านต่างๆ ให้กับประชาชน 3. รัฐต้องเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน พ.ศ.2524 4. รัฐต้องวางมาตรการที่เข้มข้นเพื่อหยุดการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ รวมถึงเพิ่มกลไกการตรวจสอบประกันสังคมกรณีการจัดซื้อตึก และการใช้เงินที่อาจผิดวัตถุประสงค์ของผู้ประกันตน 5. รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมสถานประกอบการของคนไทยให้มีความเข้มแข็ง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และค่าจ้าง ที่เป็นธรรม ต้องเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองเกี่ยวกับการลงทุนของกลุ่มทุน ทั้งทุนเทา ทุนดำ นอมินี ทั้งทุนในประเทศ และที่มาจากต่างประเทศ 6. รัฐต้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเป็นกรณีเร่งด่วน และ 7. รัฐต้องมีมาตรการในการดำเนินการต่อกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือรัฐ ที่สร้างผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยเฉพาะในกิจการพลังงาน โทรคมนาคม และรัฐควรยกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน
ขณะที่ข้อเรียกร้องที่เป็นข้อเสนอเดิมช่วงหลายปีที่ผ่านมา15 ข้อ ประกอบด้วย 1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน คือรัฐต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ 2. รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชนลง และเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง 3. รัฐต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) 4. รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 5. รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี โดยเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าอย่างจริงจัง
6. รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม 7. รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 8. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ 9. รัฐต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว 10.รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่น รับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ
11.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีนายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด 12. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงานเมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ 13. รัฐต้องพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ และการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ 14. รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางานเหมาบริการ และการจ้างบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน
และ 15. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิ์แรงงานข้ามชาติ เช่น รัฐต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานะ และไม่เลือกปฏิบัติต่อใครชาติใดชาติหนึ่ง เพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรค รัฐต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด ขณะเดียวกันเครือข่ายแรงงานสตรี ได้เรียกร้องสิทธิลาคลอด 180 วัน ต้องจ่ายค่าแรง 100%
แน่นอนว่ากิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติ หรือในวันแรงงานสากล ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการจัดงานของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่จัดรำลึกกันมาทุกปี มีกิจกรรมเคลื่อนไหว มีข้อเรียกร้อง ข้อเสนอกับรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลนั้นตามปกติแล้ว นอกเหนือจากนายกรัฐมนตรีที่ต้องส่งสาส์น มีการกล่าวปราศรัยส่งความปรารถนาดี เป็นประจำทุกปีแล้ว รัฐบาลยังมอบหมายให้รัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทน ซึ่งปีนี้ก็คงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ก็ยังไม่เห็นบทบาทที่ชัดเจนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดีสำหรับนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ปีนี้ นอกจากไม่มีการปราศรัยกับผู้ใช้แรงงานแล้ว เธอยังหลบเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามแต่อย่างใด ซึ่งมองอีกมุมหนึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร กับคำถามเรื่อง “ค่าแรง” ทั้งที่รับปากว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ หรือแม้แต่นโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงไว้จำนวนวันละ 600 บาท จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ทำให้ไม่กล้าตอบคำถาม!!