วันนี้( 1 พ.ค.)ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน) ประธานสถาบันการสร้างชาติ และนักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวถึงอนาคตแรงงานไทยในยุค AI ว่า แรงงานไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการรุกคืบของ AI ตามที่ตนได้เตือนไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องแข่งขันด้านต้นทุน หากสถานประกอบการในไทยไม่สามารถปรับตัวและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิต จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการปิดตัวหรือลดจำนวนพนักงานลง โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่ไม่สามารถปรับตัวหรือเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อแข่งขันกับ AI ได้
ประธานสถาบันการสร้างชาติ อธิบายว่า วิวัฒนาการของสังคมมนุษย์เปรียบได้กับ ‘คลื่นอารยะ 7 ลูก’ โดยแต่ละคลื่นสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เริ่มจากคลื่นลูกที่ 0 ยุคสังคมเร่ร่อน คลื่นลูกที่ 1 ยุคเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 ยุคอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่ 3 ยุคข้อมูลข่าวสาร และคลื่นลูกที่ 4 ยุคสังคมความรู้ ปัจจุบัน โลกกำลังก้าวเข้าสู่ คลื่นลูกที่ 5 ‘ยุคสังคมปัญญา’ และเชื่อว่าหลังยุคสังคมปัญญา โลกจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ คลื่นลูกที่ 6 ‘สังคมแห่งความดี’ ในที่สุด ซึ่งในแต่ละยุคต้องการสมรรถนะของแรงงานที่แตกต่างกัน
“ในคลื่นลูกที่ 5 แรงงานจะไม่สามารถพึ่งพาเพียงทักษะแบบเดิมได้อีกต่อไป แต่ต้องพัฒนาฐานการคิด 4 ทิศ ได้แก่ คิดเป็น คิดบวก คิดครบ และคิดดี พร้อมเสริมสร้างความรู้ที่ลึก กว้าง และไกล เพื่อบูรณาการศาสตร์แห่งความรู้เข้ากับศิลป์แห่งความคิดได้อย่างแท้จริง คนที่สามารถสร้าง "ปัญญา" ได้เช่นนี้ จะกลายเป็นแรงงานที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก และในยุคสังคมแห่งความดี จะยกย่องคนมีอุดมการณ์ ทำเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน คนเหล่านี้จะได้รับความไว้วางใจและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในทุกภาคส่วน”
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เสนอแนะว่า สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีแรงงานกว่า 40 ล้านคน โดยที่ร้อยละ 70 ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ และอีกร้อยละ 30 อยู่ในภาคเกษตรกรรม จำเป็นต้องเร่งยกระดับศักยภาพแรงงาน ผ่านการ Upskill และ Reskill อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างแรงงานที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ และสามารถใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เตือนว่า นโยบายประชานิยมที่เน้นการแจกเงินหรือเอาใจเฉพาะกลุ่มคน ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน แต่จะยิ่งเพิ่มภาระต้นทุนและบั่นทอนขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว รัฐบาลต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารจากการ "เยียวยา" มาเป็นการ "ยกเครื่อง" เพื่อสร้างคนให้แข็งแกร่ง ยืนได้ด้วยตัวเอง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"ประเทศไทยจะโชคร้ายอย่างยิ่ง ถ้าเรายังเลือกผู้นำด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้า การซื้อเสียง หรือประชานิยมระยะสั้น โลกในวันข้างหน้า คนที่มีปัญญาและคุณธรรมเท่านั้นจะมีที่ยืน ประเทศไทยต้องเตรียมคนให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่เราจะถูกคลื่นการเปลี่ยนแปลงกลืนหายไปจากเวทีโลก" ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวย้ำ