ข่าวปนคน คนปนข่าว
++ อิทธิฤทธิ์ “เสี่ยต้น-เจ้นก” สับขาหลอก-ป.ป.ช. ลุยสอบทุจริต E-ticket สิมิลัน ไม่หลงกล!
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพิ่งหายเมาหมัด จึงระดมออกแถลงการณ์ตั้งแต่วันเสาร์ ที่ 26 เม.ย.68 พอวันจันทร์ที่ 28 เม.ย. “อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมอุทยานฯ เชิญสื่อมวลชนมาฟังถ้อยแถลงประเด็นที่สังคมสงสัยในความโปร่งใสของกรมอุทยานฯ ที่ต่อเนื่องมาจากกระแส “ทราย สก๊อต” ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เงิน 2.2 พันล้าน ตามระเบียบต้องแบ่งให้ใครบ้าง ตลอดจนวิธีการพิจารณาการใช้เงินก้อนนี้ เพื่อโครงการต่างๆ
ในการแถลงมี “ชิดชนก สุขมงคล” รองอธิบดีกรมอุทยานฯ (วน. 55 ว่าที่อธิบดีฯ) นั่งขนาบซ้าย “อริยะ เชื้อชม” ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ (วน.55 อธิบดีฯน้อย) นั่งขนาบขวา ที่เหลือคือ “เทิดไทย ขวัญทอง” ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 5 จ.นครศรีธรรมราช (โรงเรียนป่าไม้แพร่) ผลัดกันชี้แจงซึ่งไม่เกินความคาดหมาย เพราะทุกประเด็นมีการอ้างอิง ระเบียบแบบแผน ความโปร่งใส
ตอนหนึ่ง “อรรถพล” ยืนยันว่า ณ วันนี้ ยังคงมุ่งมั่น ไม่เสียกำลังใจในการทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาดูแลอุทยานฯ ทำให้เป็นที่รองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชน พร้อมทำหน้าที่ ขอปวารณาตัวอีกครั้ง ขอทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และอุทยานฯ ของเรา
“ผมไม่ปล่อยให้มีการทุจริต ถ้ามีต้องดำเนินการ เราไม่สามารถควบคุมคนของเราให้สุจริตครบถ้วน แต่เราไม่ปล่อยไว้ มีมาตรการคัดคน ตรวจสอบ เราไม่ปล่อยให้รั่วไหลแน่นอน เราไม่รีรอให้เวลาล่วงเลย เช่น กรณีสิมิลัน ผมออกคำสั่งด่วน แสดงให้เห็นการเอาจริงเองจัง และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตรวจสอบ !!??”
และแล้ว สิ้นเสียงเรื่องความโปร่งใสการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของอธิบดีกรมอุทยานฯเพียงข้ามคืน วันที่ 29เม.ย.คณะของป.ป.ช.ประกอบด้วย “สุชาติ กรวยกิตานนท์” ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ภาค 8 “ทวิชาติ นิลกาญจน์” ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9 ผอ.คณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาคใต้ จนท.ป.ป.ช. ภาค 8 และ 9 สนธิกำลังลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เพื่อสุ่มตรวจสอบความโปร่งใส เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมระบบ “E-Ticket” อีกครั้ง หลังจากที่เคยดำเนินการมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดเป็นประเด็นฉาวโฉ่ โกงค่าธรรมเนียมผ่านอุทยานฯ ตามที่ทราบกัน
หลังการตรวจสอบ พบว่าอุทยานฯได้แจ้งต่อคณะป.ป.ช.ว่า มีเรือนักท่องเที่ยวแจ้งเข้าทั้งหมด 41 ลำ แยกเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,493 คน ไทย 196 คนแต่จากการสุ่มตรวจเรือ 20 ลำ มีเรือ 2 ลำ นักท่องเที่ยว 89 คน ไม่ได้แจ้งเข้าระบบจึงนำเรื่องส่งต่อไปยัง จนท.อุทยานฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ต่อจากนั้นประมาณ 1 ชม. เพจกรมอุทยานฯ โพสต์รายละเอียดปฏิเสธ ยืนยันไม่มีเรือนอกระบบโดยย้ำว่า เรือทุกลำเข้าระบบ E-Ticket อย่างถูกต้องแล้ว โดยมีรายละเอียดว่า “วราวุธ แสงทอง” รักษาการหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน “เฉลิมชัย เกิดผล” ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ได้อำนวยความสะดวก คณะ ป.ป.ช.และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เรือที่ป.ป.ช.สงสัยนั้นมีจำนวน 3 ลำ มิใช่ 2 ลำ
กล่าวคือ ลำที่ 1 ตามที่ ป.ป.ช.แจ้งชื่อเรือ SAWANU TRAWEL มีผู้โดยสาร 20 คน แต่ตรวจสอบแล้วคือเรือ “กะละมังดี 3” เป็นของบริษัท ชาวานู ทราเวล จำกัด มีการซื้อบัตร E-Ticket อย่างถูกต้อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 20 คน เด็ก 3 รวมเป็น 23 คน
เรือลำที่ 2 ป.ป.ช.แจ้งชื่อเรือพงษ์รัก 45 คน ตรวจสอบแล้วคือเรือ “ปุณณัตต์” ของบริษัท อันดามันซีซัน จำกัด ซื้อบัตรอย่างถูกต้องเช่นกัน และ เรือลำที่ 3 ป.ป.ช.แจ้งชื่อ “แอดแวนเจอร์เวิล์ด เดอะนิวเอ็กพีเรียน” ตรวจสอบแล้วคือ เรือ อ.อริสรา 3 ของ บริษัท สยามแอดเวนเจอร์ เวิล์ดทรานสปอร์ต ซื้อบัตรถูกต้องแล้วเช่นกัน รวมทั้งหมด 3 ลำ 86 คน ไม่พบว่ามีเรือนอกระบบตามที่ ป.ป.ช. ให้ข่าวแต่อย่างใด
เอาล่ะซิ!!?? ปฏิบัติการของ ฉก.ฉลามอันดามัน รอบ 2 ของป.ป.ช. ทำท่าจะเจอ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ซะแล้ว!!
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ? ระหว่างการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. กับคำยืนยันของกรมอุทยานฯ สังคมจะเชื่อใคร ?
แต่...แต่ก่อนถึงจุดยกพยานหลักฐานมาแฉกัน คนวงในกรมอุทยานฯ ก็สะดุดกับเรือที่ชื่อ “กะละมังดี 3” ซึ่งมีข้อมูลว่า เป็นของข้าราชการหญิง ระดับผอ.สำนักฯ ของกรมอุทยานฯ ซึ่งก่อนหน้าเคยทำหน้าที่สำคัญแถวๆ อุทยานแห่งชาติในเขตท้องทะเลอันดามันมาก่อน ขนาดวงการทัวร์ วงการอุทยานทางทะเลเขาร่ำลือกันว่า “ต้นกับนก เขาถึงกันจริง”
จริงเท็จประการใด หากกรมอุทยานฯ หรือบริษัทชาวานู ทราเวล จำกัด จะกรุณาชี้แจง ก็จักเป็นพระคุณอย่างสูง
งานนี้ขออย่าขัดเคืองใจกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อความโปร่งใส ให้สมกับที่ท่านอธิบดี “อรรถพล เจริญชันษา” เอ่ยปวารณาตัวทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถอีกครั้ง
ทำไม..เหตุใด...เพราะอะไรข้อมูลของป.ป.ช.จึงผิดพลาดไปได้ขนาดนั้น และคำชี้แจงของรักษาการหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เรื่องเรือนักท่องเที่ยวนอกระบบนั้น อย่าเพิ่งจบกันง่ายๆ
ที่แน่ๆ ฟังว่า ป.ป.ช.ไม่สนผู้บริหารกรมอุทยานจะกรีฑาทัพมาแถลงข่าวโต้อย่างไร ไม่หลงกล หลงประเด็น โดยจะลุยตรวจสอบประเด็น E-Ticket อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ต่อแน่
ป.ป.ช.ได้เห็นตัวเลขที่ส่งมาให้อุทยานฯ และป.ป.ช. พบว่าเรือแต่ละลำ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย เกิน 50% แต่เมื่อลงไปสุ่มตรวจกว่า 90% กลับเป็นคนต่างชาติ!
ต้องไม่ลืมว่า ค่าเข้าอุทยานฯ ของคนไทย 100 บาท ขณะที่ต่างชาติ 500 บาท ย่อมมีการตกแต่งตัวเลข ตกแต่งรายชื่อผู้ประกอบการ ทำให้รัฐเสียรายได้ แต่ส่วนต่างไปเข้ากระเป๋าใคร ?
นาทีนี้หากทำโพลสอบถาม เชื่อใครมากกว่ากัน ระหว่างป.ป.ช. กับ ผู้บริหารกรมอุทยานฯ ที่เรียงหน้ากระดาน มายืนยันว่า ทำงานอย่างโปร่งใส
งานนี้ไม่ต้องคิดหนัก เพราะหากยึดหลักความจริงมีหนึ่งเดียว! แต่ละคนย่อมได้คำตอบว่า ควรเชื่อใครดี
++ ชัดๆ คำวินิจฉัยศาลฎีกาฯ สั่งไต่สวน “ทักษิณ” และผู้เกี่ยวข้อง กรณีชั้น14 ไม่ได้จำคุกจริง!!
ช่วงบ่ายวันที่ 30 เม.ย. 68 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกคำร้อง “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ” ที่ขอให้ไต่สวนกรณีส่ง “ทักษิณ ชินวัตร”ไปรักษาตัวที่ห้อง วีไอพี ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ โดยศาลให้เหตุผลว่า... ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า แล้วใครล่ะ คือผู้เสียหายโดยตรง?!
เพื่อไม่ต้องไปเฟ้นหาคำตอบนี้ให้เสียเวลา ศาลฯบอกว่าในคำร้องของ “ชาญชัย” นั้น มีการนำข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย มาบรรยาย แจกแจงเอาไว้ละเอียด เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สุดของศาล ศาลจึงมีอำนาจในการนำคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาเอง
สรุปง่ายๆว่า เมื่อศาลตัดสินจำคุก “ทักษิณ” 8 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี แต่ ทักษิณ ไม่ได้ถูกจำคุกจริงแม้แต่วันเดียว เพราะอ้างว่าป่วย แล้วไปรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ... แต่ประชาชน คนทั่วไปเห็นว่า นั่นเป็นการ “ป่วยทิพย์” โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ร่วมด้วยช่วยกัน
ในฐานะที่ศาลเป็นหนึ่งในเสาหลักของบ้านเมือง จึงเห็นว่าเรื่องนี้ไม่สามารถปล่อยผ่าน ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ในกระบวนการยุติธรรมได้
ในเมื่อการสั่งจำคุก ทำโดยอำนาจศาล ศาลย่อมมีอำนาจตรวจสอบว่าได้มีการทำตามหมายของศาล หรือไม่ หากเกิดความผิดพลาด ศาลก็มีอำนาจสั่งราชทัณฑ์ให้ทำให้ถูกต้องได้
ศาลจึงได้ใช้อำนาจในการพิจารณาคดี ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มีคำสั่งแจ้งไปยัง โจทก์ คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ จำเลย คือ “ทักษิณ ชินวัตร- ผู้บัญชาการเรือนจำกรุงเทพฯ - อธิบดีกรมราชทัณฑ์ -นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ” ให้ทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้ศาล ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล และศาลจะพิจารณา เพื่อความกระจ่างในคดีต่อไป
คราวนี้จะเป็นการไต่สวนของศาลเอง แบบ “ชงเอง ตบเอง” โดยศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวน ในวันที่ 13 มิ.ย.68 เวลา 09.30 น.
สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สั่งไต่สวนเพื่อคลี่คลายปัญหา ว่า “ทักษิณ” ไม่ได้จำคุกจริง 1 ปี หรือไม่นั้น
“อรพงษ์ ศิริกานต์นนท์” ประธานเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ได้ลงนามคำสั่ง แต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาขึ้นมาพิจารณาคำร้อง จำนวน 5 ราย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และผู้พิพากษาศาลฎีกา ประกอบไปด้วย
1.นายฉัตรชัย ไทรโชต 2. นายอดุลย์ อุดมผล 3. นายไตรรัตน์ แก้วศรีนวล 4. นางสุพิชญ์ กรอบคำ และ 5. นายพัฒนไชย ยอดพยุง
เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณา ผู้ใดก็มิอาจก้าวล่วง วิพากษ์วิจารณ์
แต่เชื่อเถอะว่า ตอนนี้“ทักษิณ” ที่ได้กระทำการท้าทายอำนาจตุลาการ เริ่มอยู่ไม่เป็นสุขแล้ว !!