xs
xsm
sm
md
lg

ปชน.แนะเลี่ยงฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดภาษีทรัมป์ ดักกู้ต้องรับผิดชอบไม่เกิดภาระ จี้รื้องบ 69 ยังพอมีเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ณัฐพงษ์" ปิดจ๊อบเสวนาภาษีทรัมป์ ชี้ ต้องหลีกเลี่ยงฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศ ติง รบ. หากกู้มาแล้วต้องรับผิดชอบจนไม่เกิดภาระ “ไหม” เชื่อ หากไม่ขยายเพดานเงินกู้ ก็ไม่มีทางอื่นแล้ว จี้ รื้องบ 69 ได้แล้ว บอกตอนนี้ยังพอมีเวลา ปรับเข้าสถานการณ์

วันนี้ (30 เม.ย. 2568) ที่โรงแรมโนโวเทล แพลตตินัม ประตูน้ำ กทม. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังกิจกรรมโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน เวทีเสวนา หัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2568 รับมือกำแพงภาษีและสงครามการค้า ว่า ข้อเสนอที่ได้ในวันนี้ จะเสนอแนะผ่านไปยังรัฐบาล และใช้กลไกคณะกรรมาธิการร่วมด้วย รวมถึงเชิญภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาให้ความเห็น

สำหรับกรณีการกู้เงิน มองว่า ภายใต้วิกฤติแบบนี้ ไม่ได้ติดอะไร หากจะมีการกู้เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องดูว่านำไปลงทุนได้ถูกจุด หรือนำไปเยียวยาห่วงโซ่อุปทานหรือผู้ประกอบการในไทยได้หรือไม่ หรือใช้ไปเพียงกับการกระตุ้นการบริโภคอย่างเดียวเท่านั้น

การพูดคุยกันในวันนี้ จะเห็นได้ว่า มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งการทูตต่างประเทศ ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือจะต้องมีความชัดเจน ในการเข้าไปเจรจากับ สหรัฐฯ เพราะหากยิ่งเราเข้าไปเจรจาช้า แต้มต่อหรือไพ่ต่อรองของเรา จะยิ่งถูกทำให้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะประเทศอื่น ๆ อาจจะ สามารถเจรจาได้สำเร็จไปก่อนแล้ว

นอกจากนั้น ตนยังมองว่า ควรมีเวทีหรือคณะทำงานแบบนี้ ที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน เข้ามาร่วมออกแบบมาตรการและนโยบาย ในการรับมือร่วมกัน เพราะอย่างไรก็จะกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น รัฐบาลควรมีการสื่อสารให้ชัดเจน ให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า จะดำเนินการอย่างไร ภาคเอกชนและภาคแรงงานในประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจในการทำคณะทำงานหรือทำเวทีร่วมกับภาคเอกชนหรือส่วนอื่นๆ แบบนี้ได้เลย ขณะเดียวกัน เราซึ่งอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ จะใช้กลไกสภา ทั้งการตั้งกระทู้ถาม หรือคณะกรรมาธิการต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่ให้มีการพูดคุยคู่ขนานกันไป

สำหรับข้อกังวลถึงผลกระทบต่างๆ นายณัฐพงษ์ ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราต้องพยายามหลีกเลี่ยงฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศไทย ทั้งการส่งออกหดตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้น สินค้าต่างประเทศล้นทะลักเข้าประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ จนอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งในอนาคต

ดังนั้น สิ่งที่พวกเราต้องเตรียมรับมือกันในตอนนี้ คือเตรียมมาตรการรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฉากทัศน์นั้นขึ้น รวมถึงการมองไปในระยะยาว ในพื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ หากมีการกู้แล้วรัฐบาลในสมัยหน้าๆ จะต้องเป็นคนรับผิดชอบด้วยเช่นเดียวกัน จะทำอย่างไรให้การกู้ในครั้งนี้ จะสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาและลงทุนได้อย่างถูกจุดมากกว่า

ส่วนหากมีการเยียวยาคู่ขนานกับการเจรจากันไปจริง คาดว่าจะเกิดผลชัดเจนในช่วงไหน เรื่องสงครามการค้าครั้งนี้ คงไม่ได้มีแค่ผลกระทบในระยะสั้น แต่หลังจากนี้ยังจะมีคำสั่งประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีก 2-4 ปี ในระยะยาวแน่นอน ซึ่งคงจะต้องมีการตั้งคณะทำงานในระยะยาวต่อไปในอนาคตด้วย

สำหรับหลักประกัน หากจะพูดในเชิงระบบงบประมาณ ณ ปัจจุบัน คงต้องยอมรับตามข้อเท็จจริงว่า อาจจะยังยากอยู่ แต่ในฐานะนักการเมือง พรรคการเมือง หรือรัฐบาล คงต้องใช้ความรับผิดรับชอบต่อประชาชนเป็นหลักประกัน การกู้เงินใดๆ ที่จะเป็นหนี้ของลูกหลานในอนาคต เพื่อนำมาใช้ในการแก้วิกฤติ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตของประเทศในอนาคต ก็ควรจะต้องใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดรับชอบต่อสาธารณะ และในเวทีวันนี้ เราได้มีข้อเสนอหลายๆ อย่าง ที่พร้อมจะส่งไปให้รัฐบาล ว่าควรใช้จ่ายอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระลูกหลานในอนาคต

สำหรับกรณีล่าสุดที่ Moody''s ratings คงอันดับเครดิตของประเทศไทยประเภท Senior unsecured bond ที่ Baa1 แต่เปลี่ยนแนวโน้ม (Outlook) เป็น Negative จาก Stable นั้น นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวเสริมว่า เอาเข้าจริง เรตติ้งจะมีความสำคัญต่อเมื่อเรามีการกู้ยืมจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่การถูกประเมินเช่นนี้ก็ทำให้สะท้อนถึงความอ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ จึงใช้คำว่า เป็นสิ่งที่กระตุกเตือน รัฐบาลให้กลับมาให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น แต่หากมีการกู้เพิ่มและทำให้ภาระหนี้สินประเทศเพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสที่จะทำให้การประเมินในครั้งต่อไป จะนำไปสู่การที่เราถูกลดเรตติ้งจริงๆ ไม่ใช่แค่มีแนวโน้ม ในอดีตเราเคยถูกลดเรตติ้งในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาก่อน แต่ภายในหนึ่งปีหลังจากนั้น เราก็กลับขึ้นมาอยู่ในเรตติ้งเดิมได้

เพราะหากไม่ขยายเพดานเงินกู้ ก็ไม่มีทางอื่นแล้วจริงๆ แต่ต้องใช้เม็ดเงินในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นกระตุกเศรษฐกิจกลับมา และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ดังนั้น ถ้าไม่ทำอะไรเลย เราก็ยังโดนอยู่ดี และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมา เสี่ยงเดินทางนี้ อาจโดนปรับเครดิตเรตติ้งในระยะสั้น แต่ถ้ากลับมาได้เร็ว ก็เป็นทางเลือกที่เราอยากเปิดให้รัฐบาลลองแสดงฝีมือดู แม้จะเห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่ง อาจจะยังไม่ค่อยมั่นใจในการทำงานของรัฐบาลก็ตาม

เมื่อถามถึงจำนวนเงินกู้ที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่นั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า การขยายเพดานไม่ว่าจะ 75 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ คงไม่สำคัญเท่ากับในอนาคตเราจะมีวิธีการดึงเพดานที่เคยขยายไป กลับคืนมาได้เราจะไม่ เพราะยังมีเรื่องไทม์ไลน์ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เพราะระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาล เหลือเพียงแค่ 2 ปี เราคงไม่สามารถดึงเพดานกลับมาเท่าเดิมได้ในระยะเวลาสั้นนี้อยู่แล้ว กลายเป็นว่าผู้ที่ต้องชดใช้หรือต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น จะเป็นรัฐบาลหน้าต่อๆ ไป แต่ก็คงต้องทำเป็นสัญญาร่วมกันของนักการเมืองทั้งหมด ที่สลับกัน เพราะไม่รู้ว่าคราวหน้าใครจะต้องเป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องยึดถือเรื่องนี้ให้มั่น ไม่ให้เหมือนสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่มีการขยายเพดาน และรัฐบาลเพื่อไทยที่เข้ามา ไม่ได้มีความพยายามจะรักษาวินัย อีกทั้งยังกู้ในยามที่ไม่จำเป็นต้องกู้ ไม่เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นอย่างตอนนี้

นางสาวศิริกัญญา เน้นย้ำถึงสิ่งที่สื่อสารตลอดเวลา ว่า ต้องรื้องบประมาณปี 69 ได้แล้ว ตอนนี้ยังพอมีเวลาที่จะเอากลับมาทำใหม่ แล้วค่อยเลื่อนการเข้าสู่วาระที่หนึ่งซึ่งจะเข้าสภาก็ได้ แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ก็ยังคงเดินตามแนวทางเดิม ไม่มีการแก้ไขงบ 69 เลย ส่งเข้าสภาไปทั้งๆ ที่ ยังไม่ได้ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

ส่วนผลกระทบ เราก็เคยยกตัวอย่างให้ดูไปแล้วว่า พื้นที่ทางการคลังในตอนนี้เหลือไม่มากแล้ว แค่ประมาณ 2 แสนล้านบาท หากนำตรงนี้มาเป็นจุดตั้งต้น ก็อาจต้องพยายามรื้องบปี 68 เหลื่อมปี ซึ่งตนมองว่าตัวเลขไม่ใช่น่าจะถึงตามที่เลขาสภาพัฒน์เคยพูดไว้ น่าจะได้น้อยกว่านั้น และหากยังไม่มีการรื้องบปี 69 ก็จะยิ่งทำให้เงินที่สามารถใช้ได้จริงน้อยกว่านั้นมาก ซึ่งเราก็ยังเสนอว่า ควรใช้เงินส่วนหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างในระยะยาวด้วย หากนำกรอบงบประมาณมาเป็นตัวตั้ง เราคงไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณเต็มที่ ตนจึงขอให้ปลดตรงนี้ออกไป และให้เป็นทางเลือกของรัฐบาลที่จะพาประเทศผ่านวิกฤติด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น