เมืองไทย 360 องศา
นับวันได้เห็นบทบาทนำของ นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีแบบ “เกินร้อย” มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันอาจถือว่าเกินคามคาดหมายทั้งตัวเอง และจากสังคมไปมาก เพราะสาเหตุหลักมาจากความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของ “ลูกสาว” ตัวเองคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะผู้นำประเทศ แต่จะโทษใครไม่ได้ เพราะตัวเองเป็นผู้ผลักดันขึ้นมา เนื่องจากต้องการรักษาอำนาจไว้กับครอบครัวชินวัตร ต่อไป
แม้ว่าในช่วงแรกคงคิดว่าทุกอย่าง “เอาอยู่” ตามที่พูดเอาไว้ เพราะคุมเอาไว้ได้หมด ทั้งเครือข่ายข้าราชการ กลุ่มการเมือง ที่เชื่อใน “เครดิต”เก่าๆ ที่มักเคลมเอาไว้ว่าตัวเองประสบความสำเร็จในทุกด้าน มีชื่อชั้นเป็น “กูรู” เป็นมืออาชีพด้านเศรษฐกิจ เพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้ได้ผล ชาวบ้านยังเชื่อ ยังมีความศรัทธาจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในรอบหลายปี หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกโจมตีว่ามาจากการรัฐประหาร และยังเข้ามาทำลายโอกาสของบ้านเมือง ทำให้ถดถอย และเสียหายมากมาย รวมถึงมีการ “ด้อยค่า” ด้วยวาทกรรมสารพัด
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทย และภายใต้บารมีของนายทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นรัฐบาลผ่านมาสองปีแล้ว ทุกอย่าง “ไม่สมราคาคุย” เลยสักเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “ปากท้อง” ของแพง ราคาสินค้าการเกษตรตัวหลัก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ล้วนราคาตก ขายไม่ออก ซึ่งคำชี้แจงของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ก่อนหน้านี้เมื่ออยู่วงนอกมักวิจารณ์รายวัน ถากถาง เยาะเย้ยคนอื่นว่า “โง่” ทำอะไรไม่เป็น แต่เมื่อตัวเองเข้ามาเต็มตัว เมื่อส่งออกข้าวได้ลด หรือแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ ก็บอกว่าเป็นเพราะคู่แข่งกลับมาส่งออกข้าว จากเดิมที่ต้องนำเข้าข้าว เช่น อินเดีย เป็นต้น
ขณะที่เมื่อหันไปพิจารณาด้านนโยบายของพรรคเพื่อไทย และกลายเป็นนโยบายรัฐบาล เอากันแค่ “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือ “แจกเงินหมื่น” จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่ทำได้ไม่ทั่วถึง สาเหตุก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า“ไม่มีเงินแจก” และหากไปใช้วิธีซิกแซกก็เกรงผิดกฎหมาย หวาดผวาจะตกเก้าอี้ เรื่องค่าแรงอัตราสูง วันละ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 25,000 บาท เติมเงินรายได้ประชาชนเดือนละ 2 หมื่นบาท สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากคำพูดง่ายๆ เพื่อหาเสียงเท่านั้น แต่ทำไม่ได้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “พูดไปเรื่อย”
อย่างไรก็ดี ในตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องเจอก็คือ “วิกฤติด้านภาษี” จากสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าจะโดนกันทั่วโลก แต่สำหรับไทยแล้วเนื่องจากมีรากฐานที่อ่อนแอ ถือว่า “หนักหน่วงที่สุด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน
โดยไอเอ็มเอฟ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ ASEAN-5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) โดยรวมประมาณการอ้างอิงว่า จะเติบโต 4.0% ในปี 2568 ลดลงจากคาดการณ์เดิมเดือนม.ค. ซึ่งให้ไว้ที่ 4.6% และสำหรับในปี 2569 จะเติบโตได้ 3.9% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.5%
สำหรับ "ประเทศไทย" ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 1.8% ในปี 2568 ซึ่งลดลงมากจากคาดการณ์เดิมในเดือนม.ค. ซึ่งไอเอ็มเอฟให้ไว้ ที่ 2.9% เป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียนตามการประมาณการณ์ของ IMF
และหากพิจารณาให้ลงลึกไปอีกจะเห็นว่าไทยโตต่ำสุดในอาเซียนจริงๆ นั่นคือโตต่ำกว่าเมียนมาเสียอีก โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เมียนมา จะโตได้ร้อยละ 1.9 ทั้งที่เป็นประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง รัฐบาลทหารที่ถูกบอยคอตจากประเทศทั่วโลก ยังมีการเติบโตมากกว่าไทยเสียอีก
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเริ่มเข้าสู่ภาวะไร้เสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดจาก “ซูเปอร์โพล” ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาให้เห็น
ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนเพียงร้อยละ 27.8 ที่มีความเชื่อมั่นในระดับ “มากถึงมากที่สุด” และร้อยละ 20.5 ระบุ “เชื่อมั่น ปานกลาง” ว่ารัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพได้ ขณะที่ร้อยละ 51.7 มีความเชื่อมั่นในระดับ “น้อยถึงไม่เลย” ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความเปราะบางของภาพลักษณ์รัฐบาล และแสดงว่าประชาชนมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางของการเมืองในระยะสั้น
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนมีความเป็นห่วง “การยุบพรรคการเมือง” สูงสุดที่ร้อยละ 29.1 ตามมาด้วย “คดีความทางการเมืองของนักการเมืองสำคัญ” ที่ร้อยละ 25.7 และ “การยุบสภา” ที่ร้อยละ 23.9
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อ “การแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาล” ร้อยละ 21.5 และ “การลาออกของรัฐมนตรีสำคัญ” ร้อยละ 20.7 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ชี้ให้เห็นว่าประชาชน จับตา “อุบัติเหตุทางการเมือง” ซึ่งอาจเป็นชนวนจุดประกายให้เกิดความไม่แน่นอน และกระทบต่อทั้งความต่อเนื่องทางนโยบายและเศรษฐกิจของประเทศ
ผลการสำรวจของซูเปอร์โพลในครั้งนี้ ชี้ชัดว่า ประชาชนให้ความสำคัญทั้งต่อปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐาน และเสถียรภาพทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างสองปัจจัยนี้ สะท้อนว่าการเมืองไม่สามารถแยกขาดจากคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ขณะเดียวกัน ระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำต่อเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต พร้อมกับความกังวลต่อ “อุบัติเหตุทางการเมือง” บ่งชี้ว่า รัฐบาลต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในการรักษาเสถียรภาพ และบริหารความเสี่ยงทางการเมืองในสภาวะที่ความไว้วางใจของสังคมยังไม่แน่นแฟ้น เพียงพอ
เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจในหลายสำนัก ในช่วงสุดสัปดาห์ ผลออกมาจะใกล้เคียงกัน คือ สะท้อนออกมาในเชิงลบทั้งกับรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่น ผู้นำไร้ความสามารถ ไม่น่าเชื่อถือ ล้วนมาจากสาเหตุผลงานของรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน
ขณะเดียวกันเมื่อมองในภาพเชิงซ้อนคู่ขนานกันไป ก็จะได้เห็นบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร ที่เด่นชัดและหนักหน่วงมากขึ้น พยายาม “โชว์” บทบาทในทุกด้าน ทั้งในและต่างประเทศ ทุกปัญหาเขาจัดการได้หมด ก่อนหน้านี้ลงมาจับเรื่อง “ดับไฟใต้” ที่ประกาศว่าจะต้องจบ หรือดีขึ้นภายในปีนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อนเป็นโต้โผไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาร์ และล่าสุดประกาศทำหน้าที่เป็น “ผู้ประสานงาน” ในการเจรจากับประธานาธิบดี ทรัมป์ แม้ว่าหลายคนยังงงๆ อยู่ว่าเขาอยู่ในฐานะอะไร และทางสหรัฐฯ จะคุยด้วยหรือไม่ แต่ก็ถือว่า “โชว์ออฟ” เอาไว้ก่อน พยายามสร้างความมั่นใจ เอาไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม ภาพของนายทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาลเวลานี้ ไม่ต่างจากบทบาทของ “นายแบก” ของแท้ และกำลังใช้ภาพเก่าๆ ที่อ้างอิงความสำเร็จในอดีตมาโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อมั่น ซึ่งอาจจะยังได้ผลในช่วงเวลาแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากทุกอย่างยังไม่ดีขึ้น หรือเลวร้ายลง มันก็คือหายนะดีๆ นี่เอง เอาเป็นว่าเวลานี้เริ่ม “แบกจนหลังแอ่น” แล้ว !!