xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย อปท.รวมพลังเดินหน้าควบคุมยาสูบ ตอกย้ำบทบาท “ท้องถิ่น” หัวใจสำคัญในการสร้างตำบลสุขภาวะทั่วไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2568 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพ การควบคุมการบริโภคบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคกลาง โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้บริหารและพนักงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสดงผลงานต้นแบบของการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 และกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ จำเป็นต้องใช้แนวทางบูรณาการเชิงระบบ ระหว่างภาคีภายในและภายนอกพื้นที่ เพื่อประสานความรู้เชิงลึกด้านการป้องกัน และควบคุมยาสูบ รวมถึงการฟื้นฟูเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ร่วมกับพลังของการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม ที่สำคัญทุกพื้นที่ที่รับทุนจาก สสส. โดย สำนัก 3 ขอพื้นที่ดำเนินการเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบให้เป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนงานโดยเฉพาะการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชน

นพ.พิศิษฐ์ ระบุว่า การทำงานในลักษณะนี้จะยกระดับจากแนวทางเชิงประสบการณ์ สู่กระบวนการระดับมืออาชีพ ด้วยกลไกที่ใช้ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (S-2I) กับการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยชุมชนท้องถิ่น ที่เน้นสร้างระบบที่ประกอบด้วย คน-กลไก-ข้อมูล และเครื่องมือทางกฎหมาย โดยใช้กฎหมายควบคุมยาสูบที่มีอยู่แล้วเป็นฐานสนับสนุนเชิงระบบ เช่น คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในฐานะเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่จะเข้ามาจัดการ และจุดเน้นสำคัญของการพัฒนาต่อจากนี้คือ “การสื่อสารสาธารณะในระดับชุมชน” อย่างมืออาชีพ โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ 1. ทำด้วยใจ ด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ 2. ทำอย่างสุดความสามารถ ด้วยความเชื่อมั่นในเป้าหมายการเลิกบุหรี่อย่างยั่งยืน และ 3. ทำด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะการสื่อสารในบริบทสังคมและกฎหมาย

“อยากเน้นให้มีการสนับสนุนในการสร้างนักสื่อสาร โดยการทำเนื้อหาออนไลน์ เช่น เทคนิคการทำ TikTok, YouTube และ Facebook ให้กับคนในพื้นที่ และสามารถนำไปสู่กับการสร้างกระแสของการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้ เช่นกรณีตัวอย่าง ถ้าเราไปถาม AI จะพูดถึงแต่ข้อดีของบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนข้อเสีย โทษ ปัญหา จะมีข้อมูลที่น้อยมาก เพราะ AI ดูจากการโพสต์ ดังนั้นการสร้างกระแส ต้องเอาพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ เอาคนต้นแบบ มาเป็นผู้คอยชักชวนให้เลิก ชี้นำ ข้อมูลอีกด้านเพื่อสู้กลับ” นพ.พิศิษฐ์ กล่าว

ขณะที่ ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. เปิดเผยว่า เวทีในครั้งนี้ทั้ง 2 วัน ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก ด้วยการผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการควบคุมยาสูบอย่างยั่งยืน โดยจะเห็นภาพว่าในบางพื้นที่พยายามนำบทเรียนจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้นมานำเสนอ ซึ่งการมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ หรือ ตำบลสุขภาวะ ในระยะแรกอาจไม่ได้มีการกำหนดตัวชี้วัด ทำให้เวทีครั้งนี้ได้มีการเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมชี้แนะ และมอบองค์ความรู้ พร้อมนำมาสู่การขยายผลให้กับพื้นที่ อปท. อื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมโครงการ

“วันนี้เราเห็นชัดว่าหลายพื้นที่เริ่มต้นจากการไม่ได้บรรจุเรื่องบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในกิจกรรมหลักของท้องถิ่น แต่เมื่อมีข้อมูล มีบทเรียนจากพื้นที่ที่ทำสำเร็จจริง ทำให้เริ่มมีการวางแผนงานชัดเจนขึ้น วางงบประมาณในข้อบัญญัติท้องถิ่น มีการตั้งตัวชี้วัดเพื่อให้เห็นผลลัพธ์จริง” ดร.นิสา กล่าว

ดร.นิสา กล่าวว่า สำหรับแผนงานรณรงค์ในปี 2568 สสส. ดำเนินการภายใต้แนวคิด นิโคติน เสพติด จน ตาย ทุกพื้นที่สามารถดาวน์โหลดนำไปปรับใช้และเผยแพร่ในพื้นที่ได้ โดยเน้นการสื่อสารที่ตรงประเด็น สะท้อนความจริง และเข้าถึงใจของกลุ่มเป้าหมาย เช่น สื่อภาพ “นิโคติน เสพติดจนตาย” เพื่อกระชากหน้ากากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เครือข่ายจะจัดกิจกรรมรณรงค์ในพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ โดยใช้รูปธรรมจากพื้นที่ต้นแบบเป็นฐานในการกระจายองค์ความรู้และขยายผลไปยัง อปท. อื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมขบวนการ เพื่อเร่งสร้าง “ตำบลสุขภาวะ” ที่เข้มแข็งทั่วประเทศ

“เราจะไม่หยุดแค่จัดกิจกรรมเพียงวันเดียว แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง ใช้สื่อรณรงค์ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนรู้ ใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือในการขยายผล เป้าหมายของเราคือชุมชนต้องเป็นผู้รู้จริงเรื่องบุหรี่ และสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง ใช้ข้อมูลจริง รูปธรรมจริง คนจริง และผลลัพธ์จริง เพื่อสร้างชุมชนที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน” ดร.นิสา กล่าว

นางสาวสุภาพร ทองเอม พนักงานกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กล่าวรายงานผลการขับเคลื่อน “ชุมชนปลอดบุหรี่” สร้างสังคมสุขภาวะยั่งยืน โดยการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ ตามหลัก Ottawa Charter ที่เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมและระบบสุขภาพที่เอื้อต่อการไม่สูบบุหรี่ สำหรับปัญหาการบริโภคยาสูบในพื้นที่ มีทั้งบุหรี่ธรรมดา ยาเส้น และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ ทำให้มีการจัดการผ่าน 4 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1. การประกาศองค์กรปลอดบุหรี่ 2. การปกป้องผู้ไม่สูบและช่วยเลิกบุหรี่ 3. การควบคุมการจำหน่ายในร้านค้า และ 4. การตั้งคณะทำงานควบคุมยาสูบในพื้นที่ จนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การประกาศเขตปลอดบุหรี่ครอบคลุมพื้นที่ราชการและสาธารณะ 109 แห่ง ร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด อสม.ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาและเฝ้าระวังต่อเนื่อง และประชาชนร่วมมือกันอย่างกว้างขวางทำให้ จากพื้นที่ที่เคยมีปัญหาควันบุหรี่ วันนี้ ต.ด่านช้าง กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดการปัญหายาสูบ ด้วยพลังความร่วมมือของคนในชุมชน ตามเป้าหมาย “ชุมชนสุขภาวะอย่างยั่งยืน”






กำลังโหลดความคิดเห็น