วันนี้(25 เม.ย.)นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย รายงานของกรมชลประทานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ (ณ 23 เม.ย. 68) มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,821 ล้าน ลบ.ม. (59% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 20,882 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,048 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 7,352 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 28,396 ล้าน ลบ.ม. (97% จากแผนฯ) ในส่วนของผลการทำนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้วกว่า 9.99 ล้านไร่ (100% จากแผนฯ) เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 6.07 ล้านไร่ (61% ของผลการเพาะปลูก)
นายเอกภาพ กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการใช้น้ำตามแนวทางบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงอีกไม่วันข้างหน้า ด้วยการวางแผนส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำได้เพาะปลูกข้าวนาปี และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากปี 2568 จะมาถึง ช่วยลดความเสี่ยงต่อผลผลิตเสียหาย รวมไปถึงดำเนินการกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น ตามนโยบายของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งและสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการรับมือและเตรียมการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งไว้ล่วงหน้าหากฝนทิ้งช่วง โดยได้ดำเนินการส่งน้ำจากเขื่อนมูลบนและเขื่อนลำแชะ ลงลำน้ำมูลเพื่อสนับสนุนผลิตประปาของประปาส่วนภูมิภาค (หน่วยบริการเฉลิมพระเกียรติ) เพื่อสูบน้ำเข้าสู่บ่อพักผลิตน้ำประปา ซึ่งขณะนี้มีความจุ 4.1 ล้าน ลบ.ม. หรือน้ำเต็มบ่อแล้ว ส่งผลให้ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น พบว่าฝั่งเขื่อนลำมูลและเขื่อนลำแชะไม่มีปัญหา เนื่องจากมีพายุฤดูร้อนพัดผ่านจังหวัดนครราชสีมาและมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นฝั่งของเขื่อนลำตะคองปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9-10 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมยังคงมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ยังไม่พบปัญหาอะไร ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตชลประทานทุกพื้นที่ ยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค เนื่องจากปริมาณน้ำยังสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้เพียงพอ ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรในบางพื้นที่ น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และน้ำเพื่อระบบนิเวศน์ คำนวณไว้แล้วว่ามีเพียงพอตลอดฤดูแล้งอย่างแน่นอน