xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ทหารซัก กอ.รมน.ภาค 3 ปมแจ้งข้อหา112 "ดร.พอล" เล็งฟ้อง ป.ป.ช.ฐานดำเนินการโดยมิชอบ-ทำเป็นขบวนการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กอ.รมน.ภาค 3 ชี้แจง กมธ.การทหาร แจ้งความ ‘พอล แชมเบอร์ส’  ผิด ม.112 ตามโพสต์ของ "อัษฎางค์ ยมนาค" ที่ระบุมีพฤติกรรมที่อาจกระทบต่อสถาบัน โดยใช้อำนาจดำเนินการตาม พ.ร.บ.กลาโหมฯ "วิโรจน์" แย้ง ตกลง กอ.รมน.สังกัดสำนักนายกฯ หรือ กห.กีนแน่ แถมขู่ฟ้อง ป.ป.ช.พร้อมถามทำเป็นขบวนการหรือไม่ ซัดไม่คำนึงถึงผลกระทบเจรจาสหรัฐฯ ขึ้นภาษี ด้าน "พวงทอง" แนะถอนฟ้อง เหตุอาจแปลภาษาอังกฤษผิดความหมาย

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร วาระพิจารณาศึกษาเรื่อง กรณี ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกกองทัพภาคที่ 3 แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นประธานการประชุม

โดยมีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม สำหรับผู้ที่เข้าร่วม ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีนางสาวฉมาพันธ์ คณาชัยวิรุจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ในประเด็นสิทธิมนุษยชน เป็นผู้แทน, ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดพิษณุโลก (กอ.รมน.ภาค 3) มี ผอ.กองการข่าว กอ.รมน. เป็นผู้แทน, กองทัพบก ส่งตัวแทนจากกรมกิจการพลเรือนทหารบกมา และมีตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วม นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่การทูตฝ่ายการเมือง ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วย

ผศ.ดร.นภิสา กล่าวชี้แจงกระบวนการดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ทาง กอ.รมน. ภาค 3 ทำหนังสือเรียนถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้มหาวิทยาลัยจัดทำเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงส่งให้ กอ.รมน. ภายใน 13 พฤศจิกายน พร้อมแนบเอกสารนื้อหาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ซึ่งเป็นสถาบันของประเทศสิงคโปร์ และปรากฏภาพของ ดร.พอล ในฐานะวิทยากรที่จะสนทนาในงาน

ทั้งนี้ เป็นการสนทนาในหัวข้อ Thai military and police reshuffles และเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารคำโปรย และไม่ได้เขียนโดย ดร.พอล และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เพียงถูกเชิญเป็นวิทยากรเท่านั้น นอกจากนั้น ในสรรพนามของคำโปรยยังใช้คำว่า He ที่สื่อถึง ดร.พอล เอง และหาก ดร.พอล เขียนขึ้นเอง สรรพนามควรเป็นคำว่า I

ในหนังสือของ กอ.รมน. ยังได้ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับ ดร.พอล และสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถึง 11 ข้อ อาทิ ประวัติการศึกษา ตำแหน่ง ข้อมูลทำสัญญาจ้าง อัตราเงินเดือน ค่าตอบแทน ใช้เงินงบประมาณประเภทใด ความเกี่ยวพันกับหลักสูตร หรือเป็นผู้สอนวิชาใดบ้างในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีจำนวนบทความเท่าไร หรือมีผลงานอื่นใด เป็นรูปธรรมต่อเทอม ของ ดร.พอล

การก่อตั้งสถานประชาคมอาเซียนศึกษา ใครเป็นผู้ก่อตั้ง มีวัตถุประสงค์ หรือความมุ่งหมายใด อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานใด มีบุคลากรทั้งหมดกี่คน แต่ละคนมีหน้าที่อะไรบ้าง มีผลผลิต หรือผลงานใด ที่เป็นรูปธรรมต่อเทอม หรือต่อปีการศึกษา สถานประชาคมอาเซียนศึกษา มีความเกี่ยวพันใดกับบทความของ อ.พอลหรือไม่ และบทความนั้น เป็นไปตามหลักสูตร ของคณะสังคมศาสตร์ หรือไม่ อย่างไร เป็นไปตามบทบาทหน้าที่องค์กรหรือไม่ มีบุคคลใดเป็นผู้กำหนดแนวทางห รือรูปแบบการเขียนหรือไม่ ในระหว่างสัญญาจ้างของมหาวิทยาลัยนเรศวรและ ดร.พอล เมื่อจะไปร่วมประชุมสัมมนา หรือประชุมทางไกลผ่านกับองค์กรอื่นๆ ในวันและเวลาของที่ได้รับมอบภารกิจจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจของมหาวิทยาลัยนเรศวร อย่างถูกต้อง และเป็นทางการทุกครั้งหรือไม่

ผศ.ดร.นภิสา ระบุว่า ส่วนตัวรู้สึกว่า เป็นการเมืองภายในคณะสังคมศาสตร์ ที่พุ่งเป้าโจมตีตนเองและคณาจารย์ อีกทั้งสงสัยในคำถามที่มากถึง 11 ข้อ โดยลงรายละเอียดถึงหลักสูตรการศึกษา จนถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับ ดร.พอล จึงคิดว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ กอ.รมน. ต่อมาได้ทำหนังสือตอบกลับไป และเป็นการสอบถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างว่า การดำเนินการทางหนังสือของ กอ.รมน. ภาค 3 มีข้อสั่งการจาก ผอ.กอ.รมน. หรือไม่ ใช้อำนาจใดในการสั่งการ และมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ภาค 3 อย่างไร เนื่องจากมีช่องทางอื่นที่ กอ.รมน. สามารถมาสอบถามข้อมูลมาก และหากประสานติดต่อมาก็ยินดีที่จะเข้าชี้แจง แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา จนกระทั่งวันที่มีการประสานออกหมายจับดังกล่าว

ขณะที่นายวิโรจน์ ได้ขอให้เปิดเผยชื่อผู้ลงนามในเอกสาร กอ.รมน. คือ พล.ต.ชายแดน กฤษณสุวรรณ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 (รอง ผอ.รมน. ภาค 3) ทำการแทน ผอ.รมน. ภาค 3 พร้อมระบุว่า ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี จะนำส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ และการดำเนินคดีมีความปราณีตถูกต้องหรือไม่

ผู้อำนวยการ กองการข่าว กอ.รมน. ภาค 3 ชี้แจงแทน ผอ.รมน. ภาค 3 ว่า จากโพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ‘มหาวิทยาลัยนเรศวรจ้าง “พอล แชมเบอร์ส” มาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไร?’ โดย อัษฎางค์ ยมนาค ที่มีการแปลข้อความคำโปรยดังกล่าว กอ.รมน. จึงได้ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทาง กอ.รมน. ภาค 3 และกองทัพ ภาค 3 เห็นว่า อาจมีพฤติกรรมใช้ความรู้สึกส่วนตัวตีความ และกระจายไปยังบุคคลภายนอกอันมีผลกระทบสถาบันฯ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับ ดร.พอล ต่อไปเป็นหน้าของตำรวจดำเนินการต่อไป

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 7 (1) ให้ กอ.รมน. มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป

นายวิโรจน์ แย้งว่า มาตราดังกล่าวมอบอำนาจไว้อย่างจำกัด คือต้องนำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบอำนาจก่อน ซึ่งจากมติที่ประชุม ครม. ไม่ได้ปรากฏเรื่องดังกล่าว จึงเกิดข้อสงสัยว่าดำเนินการได้อย่าง ถือว่าเป็นการตีความต่างกัน ทางกรรมาธิการจะไม่ตัดสิน แต่จะให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ตัดสินเอง

ทางกรรมาธิการได้สอบถามด้วยว่า กอ.รมน.ภาค 3 ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบทความหรือไม่ เนื่องจากต้องเอาผิดผู้แปลเนื้อหามาเผยแพร่ ไม่ใช่ดำเนินคดีกับ ดร.พอล ซึ่งเป็นผู้ถูกพาดพิงถึง

ขณะที่ ศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้สังเกตการณ์ แนะนำให้กองทัพหาผู้เชี่ยวชาญมาแปลภาษาอังกฤษใหม่ เพราะเนื้อหาภาษาอังกฤษไม่ได้ซับซ้อน ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นเนื้อหาที่ ดร.พอล จะพูดในงานเสวนา ไม่ใช่สิ่งที่ ดร.พอล พูดไปแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ทบทวนเพื่อให้ถอนฟ้อง เนื่องจาก ดร.พอล และครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก

กอ.รมน.ภาค 3 ยังอ้างถึงคำสั่งที่อาศัยอำนาจมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่ว่าด้วยอำนาจของกระทรวงกลาโหม ทำให้กรรมาธิการตั้งคำถามว่า กอ.รมน.สังกัดกระทรวงกลาโหม หรือสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วเหตุใดจึงใช้กฎหมายของกระทรวงกลาโหมได้

ทาง กอ.รมน. ภาค 3 ชี้แจงว่า เนื่องจากมีข้าราชการทหาร จึงถือว่าอยู่ในกระทรวงกลาโหมด้วย ทำให้นายวิโรจน์แย้งว่า ถ้าเช่นนั้นนักการเมืองที่มียศทางทหาร ก็สามารถใช้อำนาจของกระทรวงกลาโหมได้ด้วยใช่หรือไม่ พร้อมขอให้ส่งเอกสารคำสั่งดังกล่าวให้กรรมาธิการด้วย ซึ่ง กอ.รมน. ภาค 3 ตอบว่า จะนำคำถามเรียนผู้บังคับบัญชา และจะส่งเอกสารคำสั่งให้กรรมาธิการต่อไป

จากนั้น กรรมาธิการได้สอบถามเพิ่มเติมว่า เคยใช้กระบวนการเช่นนี้ กล่าวคือการนำข้อกล่าวอ้างจากเฟซบุ๊กมาดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวถึง โดย กอ.รมน. ภาค 3 ตอบว่า ไม่เคยใช้บรรทัดฐานดังกล่าวนี้ ดำเนินคดีกับผู้ใดมาก่อน ส่วนคำถามว่า ได้ดำเนินคดีกับนายอัษฎางค์ ยมนาค ซึ่งเป็นผู้โพสต์ข้อความด้วยหรือไม่นั้น ทาง กอ.รมน.ภาค 3 ไม่ได้ตอบคำถาม

นอกจากนี้ กรรมาธิการยังสอบถามเพิ่มเติม กระบวนการดำเนินคดี มีการกระทำกันอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ เพราะหลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ดร.พอล ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้เพิกถอนวีซาทันที พร้อมถามถึงการเร่งรีบดำเนินคดีในช่วงที่มีมาตรการกำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา การเร่งจับกุมพลเมืองของสหรัฐฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศชาติหรือไม่ โดย กอ.รมน.ภาค 3 ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว และได้ออกจากระบบซูมไปก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น