“เท้ง” สงสัย รัฐบาลสื่อสารไม่ตรง ถามสรุปไทยขอเลื่อนหรือยังไม่ได้นัดสหรัฐฯ เจรจากำแพงภาษี จี้นายกรัฐมนตรีชัดเจนกว่านี้ เชื่อ ผู้นำถูกแบนวีซาปม “อุยกูร์” มีผล ยังหนุนผนึกกำลังอาเซียน สร้างอำนาจต่อรอง จุดแข็งไทยเป็นศูนย์กลาง อย่าทิ้งบทบาท
วันนี้ (22 เม.ย.) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเจรจาต่อรองกำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกา ว่า การเจรจากับสหรัฐอเมริกาตอนนี้น่าจะยังมีการสื่อสารไม่ตรงกัน สรุปแล้วเป็นทางสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเลื่อนหรือฝั่งไทยเป็นคนเลื่อน เราจึงอยากได้การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่า การเจรจาครั้งนี้จะล้มเหลวหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง อยากจะให้ผลออกมาดีที่สุดอยู่แล้ว แต่จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวรัฐบาลเอง หรือคณะที่ไปเจรจา จุดสำคัญที่สุดการพูดให้เห็นภาพตรงกัน ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิดหรือการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ถ้าจุดเริ่มต้นไม่ตรงกัน เช่น ฝั่งไทยบอกว่าสหรัฐฯ ขอเลื่อน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งอาจจะมองว่าไทยไม่ได้นัดไป จริงหรือไม่ ตนจึงมองว่าการเจรจามีข้อสะดุดหรือไม่ราบรื่น
เมื่อถามว่า วีซาที่สหรัฐฯ แบนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน จะมีผลต่อการเจรจาหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสื่อสารมาโดยตลอด ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
“การที่สหรัฐฯ มีการแบนวีซาผู้นำไทยในระดับแกนนำรัฐบาล เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินใจของรัฐบาลกระทบต่อเรื่องนี้ และเราก็แสดงความเป็นห่วงมาตลอดอยู่แล้ว” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ ย้ำว่า รัฐบาลควรแสดงความชัดเจนเรื่องนี้ให้มากขึ้น ว่า ตกลงแล้วการเจรจา รวมถึงวันเจรจา เรามีความพร้อมมากแค่ไหน อย่างไร ส่วนที่ฝ่ายค้านกังวลตอนนี้ก็มีหลายส่วน เช่น อำนาจการต่อรองของไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าต่างๆ ที่ต้องเตรียมกรอบในการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รวมไปถึงกรอบการร่วมมือกับประเทศร่วมค้าอื่น และการรับมือของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น การนำเข้าข้าวโพด รวมไปถึงการเยียวยาอุตสาหกรรมหรือห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ที่จะย้ายฐานการผลิต และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทยในอนาคต ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้
เมื่อถามว่า มีรายงานว่า ประเทศเวียดนามได้คิวแล้ว อยากเห็นด้วยกับการมัดรวมกันไปเจรจาในนามอาเซียนหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ในการเจรจาน่าจะมีหลายระดับพหุภาคีแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ ก็มีส่วนสำคัญ แต่การเจรจาในระดับภูมิภาค หรือหลายประเทศรวมกัน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จะเห็นได้ชัดจากกรณีของจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่เรามีการเริ่มพูดคุยกัน ดังนั้น ในกรอบของอาเซียนเราควรมีการพิจารณากันในเรื่องนี้ ไทยเองก็มีจุดแข็งในด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนด้วย จึงไม่ควรทิ้งบทบาทในส่วนนี้