เมืองไทย 360 องศา
ไม่อยากพูดให้หวั่นวิตกกันเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าในช่วงเวลานี้ถือว่าไทยเราแทบจะไม่มีข่าวในเชิงบวกออกมาให้เห็นเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ต่อเนื่องกันไปถึงเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องเจอกับผลกระทบจากสงครามการค้าการ “ขึ้นภาษีตอบโต้” ที่เริ่มต้นมาจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังสร้างความหวั่นวิตกให้กับภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างหนักว่า หากไม่สามารถเจรจาบรรเทาลดลงได้เชื่อว่า เราจะต้องเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจ จนผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่กล้าฟันธงว่าจะถดถอยลงมาแค่ไหน แต่อย่างน้อยในเบื้องต้นมั่นใจว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ น่าจะโตได้แค่ “หนึ่งเปอร์เซ็นต์กว่าๆ” เท่านั้น หรือบางคนไม่อยากจะพูดว่า “อาจเลวร้ายกว่านี้” ด้วยซ้ำไป
ก่อนจะไปถึงเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเรื่อง “สงครามการค้า” ที่ล่าสุดมองไม่เห็นหนทางเจรจาหาทางออก เพราะข่าวล่ายืนยันมาแล้วว่า ทางสหรัฐฯ ยังไม่กำหนดคิวให้ตัวแทนฝ่ายไทยเดินทางไปเจรจา จากเดิมที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเคยแจ้งว่า จะมีการเจรจากันในวันที่ 23 เม.ย.นี้ ความหมายก็คือ “ยังไม่มีกำหนด”
แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนั้น มารับฟังข่าวที่เรียกว่า “ไม่เป็นบวก” กับเกษตรกรชาวนา เสียก่อน เมื่อมีการแถลงจากกลุ่มผู้ส่งออกข้าว โดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วง 3 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณ 2.1 ล้านตัน ลดลง 30% เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง หลังระงับส่งออกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังได้รับผลกระทบจากอินโดนีเซีย ซึ่งผู้นำเข้ารายสำคัญในปีที่ผ่านมา ที่นำเข้าสูงถึง 4 ล้านตัน แต่ช่วงนี้หยุดการนำเข้าข้าวจากไทย เพราะมีผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น โดยปีนี้ทั้งปีอินโดนีเซียอาจนำเข้าข้าวไม่ถึง 1 ล้านตัน และคาดว่าจะกลับมานำเข้าในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ปริมาณส่งออกข้าวขาวลดลงถึง 53% แต่ยังดีที่มียอดส่งออกข้าวหอมมะลิไทย และข้าวนึ่งเพิ่มขึ้น
สำหรับนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ยังเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยแล้ว 10% จากเดิมภาษีอยู่ที่ 0% โดยการชะลอการเก็บภาษีนำเข้าจากไทยในอัตรา 36% ออกไป 90 วัน ทำให้มีคำสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเก็บในสต็อก โดยในช่วงไตรมาสแรก มีการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปแล้วกว่า 2 แสนตัน อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป หากไทยถูกสหรัฐฯเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 25% ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาจะเพิ่มเป็น 1,250 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าผู้บริโภคสหรัฐฯ จะรับราคาที่เพิ่มได้หรือไม่ ซึ่งต้องรอดูผลตอบรับต่อไป
แน่นอนว่า นี่คือข่าวร้ายโดยตรงต่อชาวนาไทย เพราะเมื่อส่งออกได้น้อยย่อมส่งผลกระทบต่อราคาข้าวภายในประเทศที่ตกต่ำอยู่แล้ว ยิ่งตกลงไปอีก นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรตัวหลักอื่นๆ เช่น ยางพารา ที่ผ่านมาแม้ว่ายังไม่มีผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ แต่กลายเป็นว่าเกษตรกรก็ถูกพ่อค้ารับซื้อยางฉวยโอกาสกดราคาให้ต่ำลง จนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าไปแล้ว
ขณะเดียวกันเกี่ยวกับการเจรจากับสหรัฐ ของ “ทีมไทยแลนด์” ที่นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยการเปิดเผยของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ตามกำหนดการเดิม วันที่ 23 เมษายน จะต้องร่วมคณะเดินทางไปด้วยนั้น ระบุว่า เวลานี้ยังไม่มีคำตอบจากสหรัฐว่าจะมีการเจรจากันได้เมื่อไหร่ เวลานี้กำลังรอกำหนดการจากทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ และรอคิวว่าจะได้เมื่อไหร่
อย่างไรก็ดี เมื่อได้ฟังการแถลงล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร กลับออกมาแถลงชี้แจงว่า กรณีการเลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ ประเด็นกำแพงภาษีนั้น เป็นทางฝั่งไทยเป็นฝ่ายขอเลื่อนการเจรจา เพื่อรอความชัดเจน และมีการหารือกันเป็นการภายในว่ามีประเด็นและรายละเอียดเรื่องใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่
“สาเหตุการเลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ เพราะขอรอดูสถานการณ์ก่อน โดยต้องการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ไม่อยากไปเจรจาโดยที่ไม่มีการเตรียมตัวให้รอบด้าน ขอพูดตรงๆ ว่าขออย่าให้เร็วกว่าคนอื่น และอย่าช้ากว่าคนอื่น เร็วไปก็ไม่ดี แล้วถ้าช้ากว่าคนอื่นก็ไม่ดี เหมาะสมที่สุด คือดูก่อนว่าหัวขบวนเขาโดนอะไรบ้าง กลางขบวนโดนอะไรบ้าง เราอยู่กลางๆ เกือบท้าย เราจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร จริงๆ เขาอยากให้ทุกคนไป เพียงแต่จะจัดคิวอย่างไร ส่วนผมอาจต้องละเอียดรอบคอบหน่อย โดยในระหว่างนี้ที่เหลือเวลาอีกประมาณ 70 วัน เชื่อว่าทุกคนร้อนใจ”
นายพิชัย กล่าวต่อว่า มีเกือบร้อยประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้มีประเทศที่ได้คุยแล้วแค่ประเทศเดียว ทำให้ต้องมาดูกรอบการพูดคุยของประเทศที่มีการค้าใหญ่กว่าไทย ทั้งนี้แม้การพูดคุยจะขยับออกไป แต่ในระดับปฏิบัติการยังไม่หยุด โดยใช้สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหรัฐฯ เป็นฐาน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทุกส่วนอยู่ตรงนั้น และมีทีมที่เข้าใจเรื่องกำแพงภาษี ทำงานคู่ขนานไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราคุยกันในระดับปฏิบัติการ เข้าใจตรงกัน จะได้นำไปสู่การทำข้อมูลว่าครบถ้วนหรือไม่ และต้องดูการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การหารือระดับสูง
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็พูดไปอีกทางบอกว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนเนื่องจากทางเขา(สหรัฐ)ขอให้กลับมาทบทวนบางอย่างในเรื่องที่จะเจรจากัน โดยจะมีการกำหนดวันกันใหม่ แต่เชื่อว่าไม่ช้าแน่นอน และพร้อมที่จะเดินทางไปเจรจาด้วยตัวเอง
เอาเป็นว่ายังไม่ทันได้เจรจาก็พูดไม่ตรงกันแล้วว่า ตกลงใครเลื่อนนัดใคร และใครเป็นฝ่ายติดต่อเจรจา ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าเขาเป็นฝ่ายนัดกับ “สำนักงานผู้เทนการค้าสหรัฐ” ซึ่งฟังดูแล้วค่อนข้างสับสน
แต่สิ่งที่เชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังกังวลกันอยู่ในเวลาก็คือการที่ไทยและอีกหลายประเทศต้อง “ถูกเบีบให้เลือกข้าง” ความหมายก็คือ ตามรายงานระบุว่า การเจรจากับทางสหรัฐ จะหาทางบีบให้ต้องลดการค้าขายกับจีนเพื่อแลกกับการลดภาษีนำเข้า ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งทางการจีนก็ออกมาแถลงย้ำชัดแล้วว่า หากประเทศใดร่วมมือการค้ากับสหรัฐ แล้วทำให้จีนเสียประโยชน์ ก็จะถูกตอบโต้กับประเทศนั้นในอัตราที่เท่าเทียมกัน แน่นอนว่าจะทำให้เราวางตัวลำบาก เพราะทั้งสองประเทศคือทั้งจีนและสหรัฐ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเรา ทำให้ขยับลำบากเหมือนกัน
แต่อย่างไรก็ดี ทุกอย่างอยู่ที่ “ฝีมือ” และมีข้อมูล มีทักษะในการเจรจา และเอาตัวรอด คำถามก็คือ ฝ่ายของเราตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลงมาจะ “มีกึ๋น เอาอยู่” หรือไม่ และที่ผ่านมา “พ่อนายกฯ” นายทักษิณ ชินวัตร เคยบอกว่าได้คุยกับคนรอบตัวของประธานาธิบดีทรัมป์ แล้ว เมื่อต้องมาใช้จริงจะได้ผลหรือเปล่า หรือแค่ราคาคุย สร้างภาพเป็น “ขาใหญ่” เป็นผู้กว้างขวางระดับโลก อีกไม่นานก็จะได้พิสูจน์กันแล้ว !!