xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ยกเลิกมติครม.ปี 33 และ 34 ห้ามส่งงูมีชีวิต-หนังงูที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบยกเลิกมติครม. 9 ต.ค. 2533 เรื่อง ห้ามส่งงูมีชีวิตและหนังงู ที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 เรื่อง ห้ามส่งงูมีชีวิตและหนังงูที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร

วันนี้ (22เม.ย.) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2533 เรื่อง ห้ามส่งงูมีชีวิตและหนังงู ที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 เรื่อง ห้ามส่งงูมีชีวิตและหนังงูที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 ตุลาคม 2533 และ 12 พฤศจิกายน 2534) เห็นชอบห้ามการส่งงูมีชีวิตและหนังงูทุกชนิดที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งทำให้ประชาชนและผู้ประกอบกิจการเพาะขยายพันธุ์งูสวยงามได้รับผลกระทบ โดยในปัจจุบันประเทศไทธมีการเพาะขยายพันธุ์งูสวยงามได้เป็นจำนวนมากและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ซึ่งประชาชนและผู้ประกอบการเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีข้างต้นมีความล้าหลัง ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการเพาะขยายพันธุ์งูสวยงามสามารถส่งออกงูได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามการส่งงูมีชีวิตและหนังงูทุกชนิดที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักรมาในครั้งนี้

การยกเลิกดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกงูมีชีวิตและหนังงูที่ยังไม่ได้แปรรูปออกนอกประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงสามารถผลิตสายพันธุ์งูที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาด และผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นข้อได้เปรียบกับประเทศคู่แข่งขันทางการค้า รวมทั้งก่อให้เกิดการสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงงู เช่น ธุรกิจอาหารงู ธุรกิจอุปกรณ์การเลี้ยงงู ธุรกิจการรักษาพยาบาลงู เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลักลอบนำงูมีชีวิตออกนอกประเทศเพราะสามารถยื่นขออนุญาตส่งออกงูตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอนุสัญญา CITES ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีความเข้มงวดในการพิจารณาการอนุญาตนำเข้าและส่งออกสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากชากสัตว์ป่า เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

“กระทรวงทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ควรควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเพาะพันธุ์และการส่งออกต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” นายอนุกูล ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น