ครม.เห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ปรับแก้บทบัญญัติที่ปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
วันที่ 22 เม.ย.นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้างด้าว พ.ศ. 2542 โดยเร่งด่วน เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการนำเสนอสภาพปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่มีผลใช้บังคับมาเป็นเวลาเกือบ 25 ปี โดยมีหลักการเป็น “การปกป้อง” ผู้ประกอบการภายในประเทศมากเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้ง ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจแห่งอนาคตโดยเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างก้าวกระโดดและส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อัตราการจ้างงานและจำนวนภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บได้มีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ธุรกิจสตาร์อัพ (Startup) เป็นธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงและมีลักษณะพิเศษในการประกอบกิจการทั้งในเรื่องการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการะดมทุนจากนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งกระทบต่อสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ประกอบการที่จะลดน้อยลง เมื่อมีการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นจนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว รวมถึงประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบกิจการ อันส่งผลกระทบต่อการขยายกิจการของธุรกิจสตาร์ทอัพและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม จึงสมควรมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยเปลี่ยนจาก “การปกป้อง” เป็น “การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน” โดยคำนึงถึงศักยภาพและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจต่าง ๆ ด้วย โดยเร่งด่วน เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาฉาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยกระทรวงการคลัง เห็นว่า การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ควรคำนึงถึงประเภทของธุรกิจและสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม รวมถึงระดับการพัฒนาของแต่ละประเภทธุรกิจภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย