รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ยกระดับรายได้ให้สอดคล้องอัตราเงินเดือน ใช้งบพันกว่าล้าน
วันนี้ (22เม.ย.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ที่ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการเองได้เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้วในเรื่องการปรับค่าจ้างชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักเกณฑ์และอัตราการจ่าย รวมทั้งวันที่มีผลใช้บังคับให้เป็นไปตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.พ. รับรองหากรัฐวิสาหกิจแห่งใดจะไม่ดำเนินการตามแนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุดังกล่าว ให้รัฐวิสาหกิจสามารถพิจารณาดำเนินการได้ตามแนวทางที่เหมาะสมกับองค์กรแต่ละแห่งได้ ทั้งนี้ กรอบวงเงินในการชดเชยในภาพรวมจะต้องไม่สูงกว่าแนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับ อัตราแรกบรรจุของทางราชการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับค่าจ้างชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่าย รวมทั้งวันที่มีผลใช้บังคับให้เป็นไปตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง [เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และหากรัฐวิสาหกิจแห่งใดจะไม่ดำเนินการตามแนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุดังกล่าว ให้รัฐวิสาหกิจสามารถพิจารณาดำเนินการได้ตามแนวทางที่เหมาะสมกับองค์กรแต่ละแห่งได้ ทั้งนี้ กรอบวงเงินในการชดเชยในภาพรวมจะต้องไม่สูงกว่าแนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุของทางราชการที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ซึ่งในครั้งนี้เป็นการขอความเห็นชอบเฉพาะในส่วนของการปรับค่าจ้างชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบฯ เท่านั้น เช่น ปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างระดับปริญญาตรีอัตราแรกบรรจุไม่ต่ำกว่า 16,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และไม่ต่ำกว่า 18,150 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 อัตราเงินเดือนค่าจ้างที่รวมเงินชดเชยแล้ว ต้องไม่น้อยกว่า อัตราเงินเดือนค่าจ้างของผู้ที่เข้าทำงานใหม่ (คนเก่าต้องไม่น้อยกว่าคนใหม่) ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ ตามมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 [ส่วนกรณีการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นอำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่สามารถดำเนินการได้เองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 (เรื่อง การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจ)] โดยรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งและไม่มีผลกระทบต่อภาระงบประมาณ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (31 มีนาคม 2558) เห็นชอบ
การปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับรายได้ของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามวุฒิการศึกษาและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 (เรื่อง การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ซึ่งเป็นเรื่องลักษณะเดียวกัน กับเรื่องที่กระทรวงแรงงานเสนอมาในครั้งนี้ โดยในครั้งนั้นเป็นการปรับค่าจ้างชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุเมื่อปี 2557 ที่ได้มีการปรับอัตราแรกบรรจุระดับปริญญาตรีเป็นไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้วเห็นด้วย/ไม่ขัดข้อง
“การปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1 (1 พฤษภาคม 2567) มีลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำนวน 58,655 คน ที่จะได้ปรับค่าจ้างชดเชย โดยรัฐวิสาหกิจต้องจ่ายชดเชย จำนวน 61,164 คน ที่จะได้ปรับค่าจ้างชดเชย โดยรัฐวิสาหกิจต้องจ่ายชดเชยจำนวน 1,159.11 ล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แล้ว” นายคารม ระบุ