รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง พ.ศ. .... แจงรัฐเสียรายได้ 60 กว่าล.แลกลดอุบัติเหตุ
วันนี้ (22เม.ย.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางและศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถที่เป็นหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดค่าธรรมเนียมการประเมินเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้แก่ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ (ปัจจุบันมีเพียงสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมฟิวเตอร์ เฉพาะสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารเป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณชน) ในอัตราครั้งละ 1,000 บาท แต่โดยที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานซึ่งเคยเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถแต่หนังสือรับรองฯ ซึ่งมีอายุ 5 ปี ได้หมดอายุแล้ว และมีผู้ปฏิบัติงานที่ไม่เคยเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถมาก่อน รวมทั้งสิ้นประมาณ 68,500 คน ซึ่งหากไม่มีหนังสือรับรองจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะเข้ารับการประเมินเพื่อจะได้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น และมีทักษะในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามมาตรฐาน อันเป็นการลดอันตรายจากการทำงาน รวมทั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เข้ารับการประเมินกระทรวงแรงงานจึงเสนอร่างกฎกระทรวงนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการลดค่าธรรมเนียมการประเมินเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้แก่ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงานหรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ (ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เฉพาะสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ) จาก ครั้งละ 1,000 บาท เป็น ครั้งละ 100 บาท ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมนี้ใช้สำหรับผู้เข้ารับการประเมินในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (ระยะเวลา 10 เดือน) ของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน)
“กระทรวงแรงงานได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่มาขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถทั้งสิ้นประมาณ 68,500 คน ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 61,650,000 บาท แต่จะส่งผลดีทำให้ลดอุบัติเหตุจากผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีควมรู้ความสามารถ และสังคมเกิดความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานได้ผ่านการคัดกรองว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านนั้น ๆ แล้ว” นายคารม ระบุ