ท่ามกลางความผันผวนของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก หลายประเทศกำลังเร่งก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ประเทศไทย ยังคงวนเวียนกับการตั้งคณะกรรมการ งบประมาณกลาง และมาตรการเฉพาะหน้า ที่ดูจะรับมือกับภัยธรรมชาติได้เพียงชั่วครู่
เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงกรุงเทพฯ กลายเป็นสัญญาณเตือนเชิงสัญลักษณ์ว่า “ธรรมชาติกำลังเคลื่อนไหว…แล้วมนุษย์ล่ะ?”
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ภาวะโลกร้อนไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้อากาศร้อนจัดหรือพายุรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยา เช่น การกระตุ้นให้รอยเลื่อนเปลือกโลกเคลื่อนที่ โดยเฉพาะเมื่อมวลน้ำแข็งขั้วโลกที่เคยกดทับพื้นผิวเริ่มละลายอย่างรวดเร็ว หรือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นกดทับรอยเลื่อนใต้มหาสมุทร
“การที่รัฐยังคิดว่าโลกร้อนเป็นแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม คือการมองข้ามสัญญาณเตือนจากธรรมชาติที่ชัดเจนขึ้นทุกปี” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 แม้ไม่ใช่ก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่กลับมีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับภาวะโลกร้อนอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะฝุ่นดำ (Black Carbon) ที่สามารถดูดซับแสงอาทิตย์ได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึงพันเท่าในช่วงสั้น และเป็นปัจจัยเร่งการละลายน้ำแข็งขั้วโลกอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานจาก NASA และ IPCC ต่างชี้ว่า PM2.5 และมลภาวะจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่เพียงทำลายสุขภาพมนุษย์ แต่ยังเร่งให้โลกเข้าสู่ภาวะสมดุลใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเช่นเดิม
ขณะที่เกาหลีใต้ตั้งเป้าลดคาร์บอน 40% ภายในปี 2030 และญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 อย่างมีกลยุทธ์ ไทยยังไม่มีแผนลดการปล่อยคาร์บอนในระดับภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน – สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในการปรับตัวเชิงนโยบาย แม้จะเผชิญกับสัญญาณจากธรรมชาติที่ชัดเจนขึ้นทุกปี
ในขณะที่รัฐบาลบางประเทศเดินหน้าอย่างกล้าหาญ ทั้งการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน การอุดหนุนรถไฟฟ้า หรือภาษีคาร์บอนเพื่อจูงใจภาคธุรกิจ เรากลับยังใช้งบกลางซ้ำๆ เพื่อ “เยียวยาเฉพาะหน้า” มากกว่าการวางรากฐานป้องกันอย่างจริงจัง
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ จึงเสนอแนวทาง “5 ส. ทางรอดของโลก” ดังนี้
1.ส่งเสริมพลังงานสะอาด – สนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และลดการพึ่งพาถ่านหิน
2.สนับสนุนนโยบายและกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มข้น – เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบ
3.สร้างระบบขนส่งยั่งยืน – ส่งเสริมรถไฟฟ้า ลดการใช้รถเก่าที่ปล่อยมลพิษสูง
4.สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ – เช่น ภาษีคาร์บอน หรือเครดิตคาร์บอนสำหรับภาคเอกชน
5.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว – เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ตามในการเปลี่ยนผ่าน
“เราอาจหยุดแผ่นดินไหวไม่ได้ แต่เราหยุดพฤติกรรมที่เร่งให้มันเกิดได้ และถ้าไม่เริ่มตอนนี้ วันหนึ่งโลกอาจ ‘ปรับสมดุล’ ด้วยวิธีที่เราไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ประเทศไทยจะขยับตัวก่อน หรือจะปล่อยให้ธรรมชาติเป็นฝ่ายเริ่มขยับอีกครั้ง?
คำตอบอยู่ที่เรา