เมืองไทย 360 องศา
ไม่ต้องสังเกตก็เห็นภาพชัดเจนแล้วว่า เวลานี้ นายทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงบทบาท “ผู้นำ” ทั้งในรัฐบาล และในพรรคเพื่อไทย ในแบบจะเรียกว่าเป็นทางการไปแล้วก็ได้ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เชื่อว่าทุกคนก็รับรู้ และยอมรับทำตามกันอย่างแน่นอน ซึ่งบทบาทที่เข้มข้นดังกล่าวของเขาน่าจะมาจากความ “ล้มเหลว” ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของเขา ในบทบาทนายกรัฐมนตรี ที่นั่งเก้าอี้มานานกว่า 7 เดือนแล้ว แต่ไม่สามารถสร้างกระแสจนเกิดความสำเร็จ คำว่า “ผู้นำคนรุ่นใหม่” ใช้ไม่ได้ผล และนี่อาจเป็นสามารถต้องลงมือเอง “หน้าฉาก” แทนที่จะใช้วิธี “สั่งการหลังม่าน” ก่อนหน้านี้ หรือเปล่า
เวลานี้จะเห็นการเข้าแทรกแซงสั่งการทุกเรื่อง ทั้งเรื่องหลัก เรื่องรองลงไป เรียกว่า ลงมาคลุกทุกอย่างก็แล้วกัน ทั้งภายใน ภายนอก ปัญหาในภูมิภาคร้อนๆ เขาก็ไม่ปล่อยให้ผ่านตาไปได้
เรื่องภายใน ทั้งที่เป็นการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องกำหนดนโยบายรับรู้กันอยู่แล้วว่า เขาทำหน้าที่อำนวยการและสั่งการเองทั้งหมดอยู่แล้ว ขณะที่ปัญหาภายนอก และปัญหาภูมิภาค นั้นถือว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะควบคุมยาก แต่ขณะเดียวกัน เหมือนกับว่าต้องลงมาเล่นเอง เพื่อสร้างบทบาทนำ สร้างบารมีในระดับสากล แม้ว่าเต็มไปด้วยความเสี่ยง เพราะหากพลาดหรือล้มเหลว ก็จะเสียเครดิตที่เคยพยายามสร้างมาตลอด
ตัวอย่างที่เห็นชัดเวลานี้ก็คือ ภาพการหารือของ นายทักษิณ ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน กับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียน ที่มาเยือนไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน โดยก่อนหน้านั้น ได้พบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว และตามรายงานข่าวที่เหมือนกับว่า เป็นเรื่องลับ “แต่มีเจตนาให้รับรู้” กันทั่วกันอีกว่า มีพล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมามาร่วมหารือด้วย
โดยก่อนหน้านี้ นายทักษิณ ได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย มาแล้วรอบหนึ่งในประเทศไทย ระหว่างที่เขามาร่วมประชุมกลุ่มประเทศ “บิมเทค” เมื่อสัปดาห์ก่อน และหลังจากนั้นนายทักษิณ ก็ได้เปิดเผยเองว่ากำลังมีนัดหารือกับผู้นำทหารเมียนมา เพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศนั้น
สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น อาจทำให้สังคมภายนอกสับสน มึนงงก็ได้ว่า นายทักษิณ มีบทบาทในฐานะอะไร มีตำแหน่งอะไรในฐานะรัฐบาล เป็น “ทูตพิเศษ” หรือเปล่า ก็ไม่เคยปรากฏ หรือก่อนหน้านั้นไปอีก เขายังบอกว่าได้ต่อสายไปหารือกับคนรอบตัวของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ กับสินค้านำเข้าของไทย
อย่างไรก็ดี ข่าวการหารือกันระหว่าง ประธานอาเซียน คือ นายอันวาร์ อิบราฮิม กับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่องหล่าย และ นายทักษิณ ชินวัตร ก็น่าจะเป็นจริง เพราะเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 เมษายน ที่โรงแรมโรสวูด เพลินจิต กรุงเทพฯ รายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก ในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียน เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรอง นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน และคณะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ในช่วงค่ำ
มีรายงานอีกว่า การหารือครั้งนี้ มี พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ร่วมกันรับประทานอาหารด้วย ซึ่งไม่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมไปถึง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ร่วมวงในครั้งนี้ด้วย
โดยบรรยากาศมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดบริเวณโดยรอบโรงแรม นอกจากนี้ยังมีรถพยาบาล จากโรงพยาบาลตำรวจ สแตนด์บาย หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินด้วย ขณะที่ทีมล่วงหน้าของมาเลเซียได้มีการเดินสำรวจตรวจความพร้อมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทย
แน่นอนว่า ไม่ว่าผลการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาภายในเมียนมา จะมีความคืบหน้าหรือไม่ก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็ได้เห็น “บทบาทแปลกๆ” ของ นายทักษิณ ชินวัตร เพราะพิจารณาตามบทบาทแล้ว เขาทำหน้าที่ไม่ต่างจากการเป็น “เจ้าภาพ” ในการพบปะกันกับ “ประธานอาเซียน” คือ นายอันวาร์ อิบราฮิม กับพล.อ.อาวุโส มินอ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาร์
ขณะเดียวกัน กลับไม่เห็นนายกรัฐมนตรีของไทย อย่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือแม้แต่ได้เห็นบทบาทของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย คือ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ทั้งในวงหารือ หรือแม้แต่การการแสดงบทบาทภายนอกเลยแม้แต่น้อย ถือว่าเป็นเรื่องแปลก สำหรับในวงการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งที่หากพิจารณาแล้วการหารือแบบนี้ ทางรัฐบาลไทยน่าจะเป็น “เจ้าภาพ”
หากพยายามอธิบายว่า เป็นการหารือลับแบบไม่เป็นทางการ และไทยยังยึดฉันทามติของอาเซียน ที่จะไม่ปฏิสัมพันธ์กับผู้นำเมียนมาร์โดยตรง แต่จากประชุมผู้นำกลุ่ม “บีมเทค” ที่ผ่านมา ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ทางรัฐบาลไทยยังเชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุม และน.ส.แพทองธาร ยังถ่ายภาพและจับมือกับผู้นำทหารเมียนมาร์อยู่เลย
อย่างไรก็ดี ภายใต้การหารือเพื่อแก้ปัญหาในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งในพม่าครั้งนี้ ถือว่าน่าติดตามว่าจะมีความคืบหน้าออกมาให้เห็นหรือไม่ แต่ก็เกิดขึ้นท่ามกลางคำถามว่า นายทักษิณ เข้ามาแสดงบทบาทในฐานะอะไร ในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียน และครั้งนี้ทำตัวไม่ต่างจากการ “เป็นเจ้าภาพ” ไม่มีผิด
แน่นอนว่า หากมองว่า นายทักษิณ ชินวัตร มีบทบาทเด่น ทั้งในระดับสากล และระดับภูมิภาค ทำตัวเป็นผู้ทรงอิทธิพล แต่ขณะเดียวกัน ยิ่งทำมีบทบาทเด่น หรือ “ทำตัวเด่น” มากเท่าใด อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับว่ายิ่งทำให้ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แย่ลงมากขึ้นไปอีก เหมือนกับครั้งนี้ เพราะแม้แต่บทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ได้ยินเสียงเลยแม้แต่น้อย !!