xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการฯชง 10 แนวทางดูแลชีวิต-สุขภาพกลุ่มเปราะบาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจการแผ่นดินชง 10 แนวทางดูแล"กลุ่มเปราะบาง"ให้กรุงเทพมหานคร -หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้ภาคีเครือข่าย5 ภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนงานสุขภาพ มั่นใจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ -ตกหล่นจากระบบสิทธิและสวัสดิการ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้

วันนี้(16เม.ย.) นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากกรณีประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพของกลุ่มประชากรที่เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าบุคคลทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบาง ให้ครอบคลุมทั้งด้านสิทธิการรักษาพยาบาล การเข้าถึงบริการ และคุณภาพชีวิต พร้อมผลักดันการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบดูแลสุขภาพที่ทั่วถึง ยั่งยืน และครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรทั้งกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ และแรงงานต่างด้าวที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ลงพื้นที่และประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พบปัญหาหลายด้าน อาทิ ความแตกต่างของคำนิยามกลุ่มเปราะบางในแต่ละหน่วยงาน งบประมาณไม่เพียงพอ ขาดการบูรณาการของข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และการส่งต่อผู้ป่วยที่ยังไม่เป็นระบบ ขณะที่ประชากรแฝงและชุมชนแฝงยังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล จึงได้มีข้อเสนอแนะต่อกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 แนวทางสำคัญ1.กำหนดนิยามกลางของ “กลุ่มเปราะบาง” ให้ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกัน เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จำแนกตามประเภทและความต้องการของแต่ละกลุ่ม 

2.จัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการสำหรับกลุ่มเปราะบางแต่ละประเภท โดยแยกตามภารกิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบ3.ตั้งกลไกบูรณาการ 2 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และระดับเขตโดยผ่านภาคีเครือข่ายของ 5 ภาคส่วน คือ สำนักงานเขต โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม เพื่อดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางแบบครบวงจร 4.ดำเนินการค้นหากลุ่มเปราะบางเชิงรุก โดยเฉพาะในชุมชนแฝงหรือประชากรแฝง เพื่อไม่ให้ตกหล่นจากระบบสิทธิและสวัสดิการโดยการร่วมมือระหว่าง 5 ภาคส่วนและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.ประสานงานการให้บริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ 6.เชื่อมโยงระบบข้อมูลของกลุ่มเปราะบางทั้ง 50 เขตให้สามารถใช้ร่วมกันได้

7.สำรวจและดูแลกลุ่มเปราะบางที่เป็นแรงงานต่างชาติและคนไทยที่อยู่นอกระบบอย่างทั่วถึง 8.ป้องกันการปฏิเสธการส่งออกหนังสือส่งต่อผู้ป่วย เพิ่มจำนวนศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ให้เพียงพอ เสริมมาตรฐานการให้บริการหน่วยปฐมภูมิ และพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ควบคู่กับการลงพื้นที่เชิงรุกในโรงเรียนและแหล่งชุมชน
9.เสนอจัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์เฉพาะทางสำหรับกลุ่มเปราะบางในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 10.กำหนดมาตรการร่วมกันในการดูแลกลุ่มเปราะบางเฉพาะกลุ่ม สนับสนุนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว และจัดตั้งหน่วยบริการร่วมของสถานพยาบาลระหว่างรัฐ-เอกชน พร้อมปรับปรุงกลไกการส่งต่อผู้ป่วย และพิจารณาเพิ่มงบประมาณ เงินสนับสนุน อัตรากำลัง บุคลากรทางการแพทย์ และเงื่อนไขการดูแลคนไทยไร้สิทธิและชาวต่างชาติที่ถูกทอดทิ้ง

นายทรงศัก กล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือแล้วหลายด้าน เช่น การให้เบี้ยยังชีพ การดูแลระยะยาวผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การจัดบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ โครงการมอเตอร์ไซด์กู้ชีพบริการผู้ป่วยฉุกเฉินและการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งมีศูนย์สนับสนุนเวชศาสตร์เขตเมือง (UMSC) ที่ให้บริการแพทย์ออนไลน์และระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน บริการเรียกรถ EMS มีศูนย์คนพิการแบบเบ็ดเสร็จรวมถึงศูนย์เทคโนสุขภาพดี ตามห้างสรรพสินค้า แต่สิ่งที่จำเป็นและสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลบริการสาธารณสุขและการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ควบคู่การเพิ่มจำนวนศูนย์บริการสาธารณสุข การพัฒนามาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการลดความแออัดในโรงพยาบาลและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
การพัฒนาระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางไม่เพียงแค่ช่วยให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนและเท่าเทียม การร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย เพื่อให้ประชากรกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง มีสิทธิเข้าถึงบริการที่เหมาะสม ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่รัฐธรรมนูญกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น