xs
xsm
sm
md
lg

ไม่พอใจพุ่ง บีบปรับครม. เป้าหมายเพื่อไทย !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - แพทองธาร ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่เดือนมานี้กระแสความไม่พอใจ และไม่มั่นใจทั้งรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพิ่มสูงขึ้นมาก และสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดก็คือ การเข้ามาแสดงบทบาทนายกรัฐมนตรี หรือ “ผู้นำ”อย่างชัดเจนของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็ล้วนมาจากสาเหตุดังกล่าวนั่นเอง นั่นคือ เพราะ“ลูกล้มเหลว” ทำให้ “พ่อต้องลงมาสั่งการ”

แม้ว่าการลงมาแสดงบทบาทให้เห็นอย่างเปิดเผยแบบนี้ของ นายทักษิณ ชินวัตร จะมีความเสี่ยง ทั้งในเรื่องของการหมิ่นเหม่ด้านกฎหมาย และที่สำคัญเสี่ยงต่อความล้มเหลวที่จะตามมา เพราะเหมือนกับว่าเขา “ทุ่มสุดตัว” ลงมาเดิมพันด้วยตัวเอง หากพลาดก็เท่ากับว่าเครดิตที่เคยพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าเป็น “กูรู” เหนือคนในทุกเรื่องก็จะจบลงทันที

แต่หากพิจารณา นายทักษิณ อย่างเข้าใจก็ต้องยอมรับว่า “ต้องทำแบบนี้” เพราะหากไม่ลงมาคลุกด้วยตัวเองเต็มตัวแบบนี้ จะคาดหวังจากบทบาทหน้าที่ของ“ลูกสาว” ตัวเอง อย่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมาต่างก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร

อีกทั้งด้วยสถานการณ์รอบตัว ทั้งภายนอกและภายใน ล้วนควบคุมยาก และกลายเป็นวิกฤตสาหัสทั้งสิ้น เพราะอย่าว่า “อุ๊งอิ๊งค์” เลย ขนาดตัวเขาลงมาเองก็ใช่ว่าจะรอด เพราะทุกอย่างมันไม่ง่าย เหมือนกับที่เคยเคลมผลงานในช่วง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่ตอนนั้นเข้ามาในช่วงวงจรขาขึ้นพอดี แต่คราวนี้ยิ่งเวลาลากยาวไปนานเท่าใด ยิ่งหาข้ออ้างลำบาก จะโทษเผด็จการ จะโทษปฏิวัติรัฐประหารทำให้ประเทศเสียโอกาส แรกๆ อาจจะพอฟังได้ แต่นานไปกล่าวโทษซ้ำๆ เรื่อยๆ มันก็คงไม่ขึ้นนัก

ดังนั้น ต้องลงมือเองทุกเรื่อง ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ ปัญหาภูมิภาค ทั้งในพม่า ปัญหาชายแดนใต้ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องกำแพงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขาบอกว่าได้คุยกับคนรอบข้างของผู้นำสหรัฐฯไปแล้ว และเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น หวังว่า “ทรัมป์” คงจะเข้าใจและแก้ปัญหาแบบ “ไทยๆ” ตามที่นายทักษิณ คาดหวังเอาไว้

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และบรรยากาศข้างนอกว่าชาวบ้านกำลังมองรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นอย่างไรบ้าง เพราะล่าสุดทาง “ซูเปอร์โพล” ได้เปิดเผยผลสำรวจออกมา และคาดว่าหลังสงกรานต์จะเป็นอย่างไร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังสงกรานต์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,102 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน 2568 พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ (เกือบสามในสี่ หรือ 74.2%) มีแนวโน้มคาดหวัง หรืออย่างน้อย “เชื่อว่า” จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงหลังสงกรานต์ ซึ่งสะท้อนภาวะความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบัน ขณะที่มีเพียง 25.8% ที่เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึก “ไม่แน่นอน” ที่ปกคลุมบรรยากาศทางการเมือง

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อผู้ตอบเลือกได้มากกว่าหนึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสะท้อนว่า ความขัดแย้งภายในรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคร่วม (36.9%) เป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนมองว่าอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รองลงมาคือ แรงปลุกปั่นใกล้ตัวผู้นำ (30.6%) และ กระแสโซเชียล (27.8%) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชน นอกจากนี้ ประเด็น เศรษฐกิจ (20.5%) และ นโยบายที่ประชาชนไม่พอใจ (14.9%) ก็ถือเป็นแรงกดดันระดับรากฐานที่บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

เมื่อสอบถามถึง ตัวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หลังสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเกิด การปรับคณะรัฐมนตรี (38.4%) และ ความแตกร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล (37.6%) ซึ่งเป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่การยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ แต่สะท้อน “ความไม่พอใจต่อการบริหารงาน” ที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ร้อยละ 32.1 เชื่อว่าจะมี การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 27.5% คาดว่าจะมี การยุบสภา ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะพัฒนาไปสู่ “การเปลี่ยนโครงสร้างระดับชาติ” หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับแรงกดดันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ ร้อยละ 25.6 ที่ระบุว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ” นับว่าเป็นส่วนน้อยของผู้ตอบแบบสอบถาม สะท้อนให้เห็นความรู้สึกร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ต่อความเปราะบางทางการเมืองในปัจจุบัน

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อน บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจทางการเมือง ที่แฝงอยู่ในสังคมไทย ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนะว่ารัฐบาลอาจเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายในพรรคร่วมและจากแรงกดดันจากภายนอก

จากเสียงสะท้อนผ่านทางผลสำรวจดังกล่าว ทำให้เห็นว่า ชาวบ้านเห็นว่าความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล และความเชื่อมั่น เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลจากผลงานทางด้านเศรษฐกิจ จนนำไปสู่แรงกดดันให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรีมากกว่าการที่นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภา

ประกอบกับหากพิจารณาจาก “แบ็กกราวด์” ของพรรคเพื่อไทยแล้วจะเห็นว่ามักมีการปรับคณะรัฐมนตรีเฉลี่ย ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีครั้ง เพื่อเป็นการหมุนเวียนและบริหารต่อรองกับกลุ่มก๊วนภายในพรรคมาตลอด ดังนั้นหากพิจารณากันตามนี้เป้าหมายหากมีการปรับคณะรัฐมนตรี ก็น่าจะเป็นเฉพาะภายในพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก และมองจากผลงานในช่วงที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า มีรัฐมนตรีหลายคนที่มองเห็นว่า “มือไม่ถึง” โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ด้านต่างประเทศ ทำให้เชื่อว่าจะต้องมีการเปลี่ยนตัวค่อนข้างแน่

เพราะหากยังเป็นแบบนี้ต่อไป ด้วยผลงานที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไร้ทิศทางแบบนี้ ก็จะยิ่งลำบาก จะมีผลต่อการเมืองในวันข้างหน้า แม้ว่าหากจะให้เห็นผลจริงๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นคนที่ตัวเองผลักดันขึ้นมาเอง จะเสียหาย ดังนั้น เมื่อถึงจังหวะก็ต้อง “ปรับรัฐมนตรี” เป้าหมายก็คือพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก นั่นแหละ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น