เมืองไทย 360 องศา
หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าช่วงนี้ นายทักษิณ ชินวัตร กำลังแสดงบทบาทใหม่ให้ล้ำหน้าขึ้นไปอีกนั่นคือ การทำหน้าที่เป็น “ผู้นำตัวจริง” อย่างชัดเจน ในลักษณะที่เรียกว่า “ทั่นผู้นำ” นั่นแหละ เพราะช่วงหลังเขาจะพยายามแสดงให้เห็นว่า เขานี่แหละคือ “ตัวจริง” แต่คราวนี้เป็นการแสดงให้ “ต่างประเทศ” ได้เห็น หลังจากก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ผลักดันลูกสาวตัวเองคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จแล้ว ภายในประเทศล้วนรับรู้แล้วว่าเขาคือผู้ชี้นำทุกอย่างในรัฐบาล
อย่างไรก็ดี หากโฟกัสเฉพาะบทบาทใหม่ล่าสุดที่พยายามเน้นให้เห็นว่า “ทั่นผู้นำ” แสดงความสามารถด้านต่างประเทศ ในลักษณะ “คอนเนกชัน” เจรจาความสัมพันธ์กับผู้นำประเทศต่างๆ พยายามแสดงให้เห็นทางด้าน “อิทธิพล” เพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าแต่ละอย่างจะถูกมองว่ามีเบื้องหลัง มี “ล็อบบี้”ถึงการได้ตำแหน่ง และการพบกันกับผู้นำประเทศในแต่ละครั้งก็ตาม
เริ่มจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน ของนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่กำลังเป็นประธานอาเซียนในวาระหมุนเวียนในปีนี้ โดยบทบาทของนายทักษิณ ในฐานะใหม่ในช่วงเริ่มต้นคือ การสร้างสันติสุขชายแดนใต้ มีการนำคณะฝ่ายความมั่นคงของไทยแบบจัดเต็มลงไปในพื้นที่
และล่าสุด นายทักษิณเพิ่งให้สัมภาษณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วงสงกรานต์ ว่า เตรียมพบกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียน เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า รวมไปถึงการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อเจรจากับสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องกำแพงภาษี
นายทักษิณ กล่าวถึงกรณี นายอันวาร์ อิบราฮิม จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในวันที่ 17 เม.ย. จะมีการหยิบยกเรื่องมาตรการกำแพงภาษี ของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ส่งผลกระทบกับอาเซียนมาพูดคุยหรือไม่ว่า หลายคนมาคุยกันในเรื่องของอาเซียนในการที่จะให้เป็นบทบาทสำคัญในการพูดคุยกับสหรัฐอเมริกา
ถามว่าไทยมีวาระอะไรที่จะเสนอเป็นพิเศษหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ก็ต้องคุยกัน รวมถึงจะพูดถึงเรื่องสันติภาพในเมียนมา
ส่วนการรวมพลังในกลุ่มชาติอาเซียน เพื่อจะไปคุยกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องมาตรการกำแพงภาษี ดูแล้วมีแนวโน้มที่ดีหรือไม่นั้น นายทักษิณ กล่าวว่า เราจะไม่ไปในลักษณะที่เป็นแบบต่อรอง เพื่อแลกโน่นแลกนี่ แต่เราจะคุยกันในลักษณะว่ากลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ เป็นประเทศที่ต้องการการพัฒนา ต้องการเม็ดเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วอีกจำนวนมากที่จะทำให้เราแข็งแรง ฉะนั้นอยากให้เขาเข้าใจในบทบาทของอาเซียน โดยเฉพาะอาเซียนกับภูมิภาคนี้ ที่มีความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาพอสมควร ตนคิดว่าเราจะคุยกันแบบเป็นพันธมิตรมากกว่าการต่อรองกดดัน
ถามว่า การไปพูดคุยครั้งนี้ แสดงว่าเดาใจนายโดนัลด์ ทรัมป์ และคนรอบตัวได้แล้วใช่หรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ส่วนใหญ่รู้จักกันดี ซึ่งคนรอบตัวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยเจอกันมาก่อน
ถามย้ำว่า พูดให้ประชาชนคลายกังวลได้หรือไม่ว่าการเจรจาของทีมไทยแลนด์ครั้งนี้ผลออกมาน่าจะเป็นบวก นายทักษิณ กล่าวว่า น่าจะไหว คงไม่ทำให้ประเทศไทยลำบาก
นั่นคือตัวอย่างของ นายทักษิณ ที่พยายามแสดงบทบาทด้านการต่างประเทศ ทั้งการเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาค เช่นก่อนหน้านี้ที่เขาได้เชิญตัวแทนชนกลุ่มน้อยในพม่ามาหารือกันที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็คือช่วงสงกรานต์นี่แหละ และถัดมาในช่วงสงกรานต์ปีนี้เขาก็มาเปิดเผยอีกว่าก่อนหน้านี้ได้พบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ระหว่างที่เดินทางมาร่วมประชุมกลุ่มประเทศบีมเทค เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
ในครั้งนั้น นายทักษิณ ชินวัตร ยังได้พบกับ ผู้นำคนอื่นๆ ด้วย เช่น นายนเรนทา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย รวมไปถึงผู้นำรักษาการของบางคลาเทศ คือ นายมูฮัมหมัด ยูนูส ดังภาพที่ปรากฏออกมาให้เห็น
ขณะเดียวกัน บทบาทของ นายทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ จะเน้นในเรื่องการสร้างนโยบายสำคัญและให้รัฐบาลนำไปใช้ โดยเฉพาะแนวทางการแก้ปัญหาเศรษกิจผ่านทางนโยบายบางอย่าง เช่น “ดิจิทัล วอลเล็ต” หรือล่าสุด กรณี “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ที่เปิดทางให้มีการ “เปิดบ่อนกาสิโน” และอีกหลายนโยบาย
แต่ที่ต้องติดตามและพิจารณาจากสองนโยบายหลัก หรือที่เรียกว่า “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เนื่องจากมีการโปรโมตกันอย่างเต็มที่ แต่ผลที่ออกมานอกจาก “ไม่ตรงปก”แล้ว ยังส่อไปในทางล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย โดยเฉพาะกรณีแรกที่ “แจกเงินหมื่นดิจิทัล” นาทีนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะนอกจากเป็นการสร้างหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังไม่ถึงเป้าหมายที่จะกระตุ้นจีดีพี ที่บอกว่าจะทำให้เกิด “พายุหมุน” ทางเศรษฐกิจ ทำให้จีดีพี โตไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ก็ไม่เกิดขึ้นจริง
ขณะที่โครงการ “เปิดบ่อน” ถูกกฎหมายก็ถูกกระแสสังคมรุมต่อต้าน จนต้องถอยออกไปชั่วคราว แม้ว่าจะยังยืนยันว่ายังเดินหน้าต่อไป แต่เมื่อกระแสต้านแรงจากทุกวงการแบบนี้ทำให้เดินต่อยากมาก เพราะมีความเสี่ยงต่อหายนะของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรี ที่เป็นลูกสาวของตัวเองอีกด้วย
พิจารณาจากความเคลื่อนไหวทั้งหมดดังกล่าวมาจะเห็นว่า นายทักษิณ ชินวัตร พยายามแสดงบทบาทมากขึ้น ทั้งตั้งใจให้เห็น หรือพยายามปิดบัง แต่ให้รู้ว่าตัวเองอยู่เบื้องหลัง เพื่อแสดงถึง “อำนาจบารมี” อยู่เหนือทุกอย่าง แต่หากสังเกตให้ดีทุกเรื่องราวที่เขาเข้ามามีบทบาทล้วนไม่ประสบความสำเร็จเลย ไม่ว่าเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล หรือล่าสุดพยายามเข้ามาทั้งเป็นตัว”เชื่อมต่อ” หรือร่วมเจรจาในปัญหาระหว่างประเทศ
แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ อาจเกิดเสียงฮือฮาแปลกใหม่เมื่อได้เห็นบทบาทของ นายทักษิณ แต่เมื่อนานวันเข้า และซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่เคยเปิดมรรคผลจริงจังสักเรื่องเดียว ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า “เขาเก่งจริง” หรือแค่สร้างกระแสเพื่อสร้างพื้นที่ข่าวไม่ให้หายไป หรือว่า “เขาตกยุค” ไปแล้ว
เพราะหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในช่วงหลังว่าเขาจะแสดงบทบาทเข้มข้น เปิดเผยมากเท่าใด แต่ผลที่ออกมาทุกเรื่องยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยแม้แต่น้อย และที่สำคัญยังไม่มีแนวโน้มเป็นบวกเลยสักเรื่อง !!