ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งดันโครงการ
เพิ่มทักษะอาชีพนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่เรียนต่อ หลังพบสถิติสูงขึ้น พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายถึงนร.จบม.6 ไม่เรียนต่อแล้วยังไม่มีงานทำ ตั้งเป้ารับร่วมโครงการ 1,000คนต่อปีงบประมาณ มั่นใจเป็น"สะพานโอกาส" เชื่อมเยาวชนมีอาชีพ มีรายได้ สู่ความมั่นคงในอนาคต
วันนี้(14 เม.ย.)นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการดำเนินโครงการ"เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ” ที่ริเริ่มโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า โครงการนี้เกิดจากการเล็งเห็น ถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างทักษะให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ที่จบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อและเข้าสู่ตลาดแรงงานทันทีที่จบการศึกษา ซึ่งเป็นการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมือซึ่งมักจะได้รับค่าจ้างต่ำและขาดความมั่นคงในชีวิต การฝึกอบรมระยะสั้นเพียง 4–6 เดือน สามารถเปลี่ยนสถานะของเด็กกลุ่มนี้ให้เป็นแรงงานมีฝีมือที่มากความสามารถและตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงมีรายได้ที่สูงขึ้นทันทีหลังจบการฝึกอบรม
การขับเคลื่อนโครงการนี้ไม่ใช่ความพยายามของผู้ตรวจการแผ่นดินเพียงลำพัง แต่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมประชาสัมพันธ์ ที่ร่วมกันสนับสนุน การขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับของ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการนำร่องเมื่อปี 2562 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และขยายผล 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นปีที่ 7 ของการดำเนินการ มีเยาวชนกว่า 3,000 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีงานทำหลังจบการฝึกอบรม รายได้เฉลี่ยต่อวันสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หลักสูตรยอดนิยม เช่น ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างไฟฟ้า ผู้ประกอบอาหารไทย และพนักงานผสมเครื่องดื่ม ล้วนเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการและสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ในอนาคต
"นอกจากเนื้อหาการฝึกอบรมที่เข้มข้นแล้ว เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างฝึกอบรม เช่น เรียนฟรี พักฟรี มีอาหารกลางวัน รถรับส่ง และเงินช่วยเหลือครอบครัวในระหว่างเรียน รวมถึงการันตีตำแหน่งงานหลังจบหลักสูตร "
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ก่อนเรียนมีระบบ Job UBISD ให้ศึกษาเพื่อช่วยจับคู่งานว่างที่ตรงกับความชอบและความต้องการ เพื่อตอบสนองความสามารถของผู้เรียนให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่น่าสนใจคือ โครงการยังรองรับกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ที่ต้องดูแลผู้พิการ หรือผู้สูงอายุในครอบครัว โดยมีการจัดสรรเงินทุนให้ประกอบอาชีพอิสระจากกองทุนตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ซึ่งช่วยให้เยาวชนเหล่านี้สามารถทำงานจากที่บ้านและดูแลคนในครอบครัวไปพร้อมกันได้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ มีเป้าหมายขยายกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น โดยนอกจากนักเรียนที่เพิ่งจบ ม.3 แล้ว ยังรวมถึงผู้ที่จบ ม.3 ไปแล้ว 1–3 ปี หรือนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือจบชั้น ม.6 ไปแล้วและไม่ได้เรียนต่อ ยังไม่มีงานทำ โดยมีเงื่อนไขอายุต้องไม่เกิน 25 ปี รวมถึงเด็กนักเรียนที่กำลังเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กศน.) ตั้งเป้าหมายรับผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,000 คน ต่อปีงบประมาณ
อย่างไรก็ตามเมื่อสำรวจจากสถิติยังเป็นความท้าทายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของ 76 จังหวัด ในการเร่งสร้างความเข้าใจและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เนื่องจากในช่วงปีงบประมาณ 2563–2567 มีนักเรียนที่จบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อกว่า 99,000 คน แต่มีผู้สมัคร เข้าโครงการเพียง 5,584 คน ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ครูแนะแนว และเครือข่ายชุมชน ที่ช่วยประชาสัมพันธ์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ การใช้สื่อท้องถิ่น วิทยุชุมชน และหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ช่วยกระตุ้นความสนใจและสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองและนักเรียนเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการอย่างแท้จริง
"โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ นี้ ไม่เพียงแต่เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์แรงงาน แต่ยังเป็น สะพานโอกาส ที่เชื่อมเยาวชนจากจุดเริ่มต้นของชีวิต ไปสู่การมีอาชีพ มีรายได้ และมีความมั่นคงในอนาคต ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศในระยะยาว เพราะเมื่อการศึกษาไม่ใช่ทางเดียวของความสำเร็จ ทักษะและโอกาสจึงกลายเป็นกุญแจที่ไขประตูสู่อนาคตให้เยาวชนไทยอย่างแท้จริง”