xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ พ่อ-แม่-ครู ทำคอนเทนต์เด็ก เข้าข่ายละเมิดสิทธิ ถูกบูลลี่-คุกคาม จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องวางเกณฑ์กำกับ-เอาผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ชี้ พ่อ แม่ ครู ทำคอนเทนต์เด็ก เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก ถูกบูลลี่-คุกคาม เป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ ก่อปัญหาระยะยาว หวาดกลัวสังคม จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องวางเกณฑ์กำกับ เอาผิด


วันนี้ (11 เม.ย.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสม.มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เมื่อปี 2567 กรณีข้าราชการครูมีพฤติกรรมนำเด็กนักเรียนไปทำเนื้อหา (คอนเทนต์) บนโลกออนไลน์ โดยไม่ปกปิดอัตลักษณ์อันเป็นการละเมิดสิทธิเด็กโดยได้ศึกษาข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และเอกสารงานวิจัย ความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิเด็ก หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รับฟังความเห็นจากครูและผู้ปกครองแล้วเห็นว่า การนำเด็กไปทำคอนเทนต์เป็นปัญหาใหม่ในไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครู เป็นผู้ผลิต และเผยแพร่เป็นกาสแสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม ข้อมูล เนื้อหาบางส่วนไม่เหมาะสม เช่น เด็กอยู่ในลักษณะเปลือย กึ่งเปลือย ร้องไห้ หวาดกลัว วิตกกังวล วาจาไม่สุภาพ กิริยาท่าทาง พฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น บางครั้งการทำคอนเทนต์เด็กในพื้นที่สถานศึกษาบางส่วนไม่ได้รับการยินยอม ทั้งหมดทำให้เด็กถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกวิจารณ์วิจารณ์ไม่สร้างสรรค์ ถูกติดตาม ถูกข่มขู่คุกคาม อาจถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางเพศ โดยพวกใคร่เด็ก ถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ รู้สึกอับอาย วิตกกังวล หวาดกลัวการเข้าสังคม อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องป้องกันการนำเด็กไปทำคอนเทนต์แสวงหาผลประโยชน์ ที่จะสร้างผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว ที่ประชุม กสม.วันที่ 9 เม.ย. 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีการนำเด็กไปทำคอนเทนต์เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแนวทางการป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการศึกษานำเด็กไปทำคอนเทนต์ไว้ในแผนงานหรือนโยบายของกระทรวงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคอนเทนต์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิเด็ก และไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมทั้งจัดแผนปฏิบัติการ การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

2. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หน่วยงานทางการศึกษา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดมีนโยบายคุ้มครองเด็กของโรงเรียนหรือสถานศึกษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ ให้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้และรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การใช้อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เหมาะสม มาตรฐานเดียวกัน และให้เพิ่มเนื้อหาในหลักสูตร รายวิชา หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดอบรม ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็กแก่ทุกฝ่าย

3. ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา กำชับ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจ การประพฤติปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การประพฤติปฏิบัติตนตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 เพิ่มมาตรการกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา การกำหนดบทลงโทษ หรือการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ 4. ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพิ่มเนื้อหา แผนงาน โครงการ และกิจกรรมในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ในประเด็นสิทธิเด็ก โดยเฉพาะทางดิจิทัลออนไลน์

5. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมในสังกัดจัดอบรม ประชาสัมพันธ์ ผลิตสื่อ คู่มือ หรือแนวปฏิบัติสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเด็ก พ่อ แม่ และผู้ปกครอง เกี่ยวกับการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ ละเมิดสิทธิเด็ก และ 6. ให้กระทรวงพม.ประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาศักยภาพการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ ในด้านการแจ้งเหตุ การร้องเรียน การให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ความช่วยเหลือ การประสานส่งต่อ และการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น