นายกรัฐมนตรี หารือนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กระชับความร่วมมือทางการค้าในทุกมิติ รับความท้าทายการค้าโลกปัจจุบัน
วันนี้ (ศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568) เวลา 11.10 น. ณ ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทางโทรศัพท์กับ นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน (The Right Honourable Christopher Luxon) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เกี่ยวกับความท้าทายของระบบการค้าโลก และแนวทางการรับมือกับมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่ได้หารือนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ อีกครั้ง ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย เมื่อ 28 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณไทยที่มีบทบาทนำและเป็นตัวกลางในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมาด้วย
นายกรัฐมนตรีไทย และนิวซีแลนด์ ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับมือความท้าทายระบบการค้าโลกปัจจุบัน ซึ่งผู้นำทั้งสองเห็นว่า เป็นโอกาสดีที่สองประเทศได้หารือเพื่อเร่งกระชับความร่วมมือระหว่างกัน แม้ว่าขณะนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการ 90-day pause สำหรับ reciprocal tariffs แต่มีมาตรการภาษีต่อทุกประเทศในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสำหรับทุกประเทศ
ในส่วนของประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยได้แจ้งสหรัฐฯ แล้วว่า ไทยพร้อมที่จะหารือเพื่อเพิ่มการค้าที่สมดุลมากขึ้น ควบคู่กับการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคส่วนต่างๆ โดยคณะทำงานได้มีการปรึกษาหารือกับทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า นิวซีแลนด์เองถูกกล่าวหาว่าเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 20 แม้ว่าแท้จริงแล้ว อัตราภาษีศุลกากรของนิวซีแลนด์จะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เท่านั้น
ซึ่งผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างกังวลถึงการนำไปสู่สงครามการค้าที่รุนแรง และภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อรับมือกับมาตรการ โดยเสนอให้ทั้งสองประเทศทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ภายใต้กลไกที่มีอยู่แล้วในทั้งกรอบทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงในกรอบอาเซียน ทั้งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Agreement: AANZFTA) และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งกลไกเหล่านี้ได้ทวีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้น ในการรับแรงกระแทกจากสถานการณ์การค้าโลก
โอกาสนี้ ผู้นำนิวซีแลนด์ กล่าวถึงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และเห็นว่า น่าจะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณที่นิวซีแลนด์ ที่เห็นความสำคัญในการเป็นพันธมิตรกับไทยในการรับมือกับความท้าทายระดับโลก และยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันภายในปี พ.ศ. 2569