“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งตรวจความมั่นคงแข็งแรงเขื่อนและอาคารบังคับน้ำทุกแห่งรับมือฤดูฝน ไฟเขียวยกระดับประสิทธิภาพการแจ้งเตือนอุทกภัยและการประชาสัมพันธ์ด้านน้ำในสภาวะวิกฤต
วันนี้ (9 เม.ย. 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2568 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้มีการเตรียมมาตรการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สำหรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ในวันนี้จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการกันทำงานเชิงรุกภายใต้ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และเน้นย้ำให้มีการติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารบังคับน้ำ พนังกั้นน้ำ และเขื่อนทุกแห่งอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการภายใต้แผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือสถานการณ์ได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย แผนฯ ระยะสั้น (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568) และระยะยาว (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2571) โดยให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามแผนระยะสั้น ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) ปรับปรุงความถูกต้องและความแม่นยำของระบบตรวจและการคาดการณ์ (2) บูรณาการข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน (3) เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ และ (4) พัฒนาแผนประชาสัมพันธ์และการแจ้งเตือนภัย เพื่อให้ทันฤดูฝนที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์
ด้านทรัพยากรน้ำในสภาวะวิกฤต โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยในสถานการณ์วิกฤตด้านน้ำให้ทันสถานการณ์และสามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนได้มากที่สุด ในขณะที่การรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ยังคงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง หากพบพื้นที่ที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้รายงาน สทนช. เพื่อบูรณาการหน่วยงานเข้าแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้เกิดความยั่งยืน ทั้งน้ำประปาและน้ำบาดาลที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำในภาคอุตสาหกรรม ที่ประชุมวันนี้จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการที่อยู่ในแผนปฏิบัติการด้านน้ำ ให้สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยเร็วและทันต่อสถานการณ์ โดยมอบหมาย สทนช. กำกับ ติดตามความก้าวหน้า และรายงานให้ กนช. ทราบอย่างต่อเนื่อง และที่ประชุม
ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ ซึ่งเป็นการจัดทำแผนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อ
ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย “นิเวศทรัพยากรน้ำได้รับการฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมความมั่นคงน้ำด้านอุปโภคบริโภค ความมั่นคงน้ำภาคการผลิตในพื้นที่เกษตรน้ำฝน และบรรเทาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ” รวม 6 แผนงาน ครอบคลุมการแก้ปัญหาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน
เมื่อแล้วเสร็จตามแผนทั้งหมดจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ ได้แก่ ทุกครัวเรือนเข้าถึงระบบประปา และมีน้ำสะอาดใช้เพิ่มขึ้น 4.30 ล้านครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง 22.36 ล้านไร่ จะได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ จำนวน 7.88 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 35.24 ของพื้นที่ดังกล่าว สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดเป็นประจำเกือบทุกปี (จากข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน ปี พ.ศ. 2561 จำนวน 13.25 ล้านไร่) จะได้รับการแก้ไข
และบรรเทาน้ำท่วมจำนวน 1.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.75 ของพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนั้น พื้นที่สีเขียวตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 2562 จะได้รับการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นอีก 0.70 ล้านไร่ และเกิดการจ้างแรงงานกว่า 750,000 คน รวมทั้งครัวเรือนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ 6.11 ล้านครัวเรือนอีกด้วย โดยให้ สทนช. เสนอคณะรัฐมนตรีและให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมเพื่อเร่งดำเนินงานเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณต่อไป
ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบผังน้ำเพิ่มเติมอีก จำนวน 3 ผังน้ำ ได้แก่ ผังน้ำลุ่มน้ำมูล ผังน้ำลุ่มน้ำป่าสัก และผังน้ำลุ่มน้ำปิง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้หน่วยงานนำผังน้ำในลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกับผังเมืองด้วย พร้อมทั้งได้รับทราบรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ตามที่ สทนช. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และเห็นชอบแนวทาง
การปรับปรุงทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยให้เร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายลำดับรอง
ในระยะแรก อีกทั้งได้เห็นชอบให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานอื่น โดยมอบหมาย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป