xs
xsm
sm
md
lg

สภาถกภาษีทรัมป์ "ไหม" ฉะไพ่ในมือรบ.ไม่ใหญ่มะกันเมิน ชี้ส่งอุยกูร์-จับนักวิชาการทำลายมิตร "จุรินทร์" จี้ช่วยส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาถกญัตติด่วนภาษีทรัมป์ “นพดล” เสนอยุทธศาสตร์ Win-Win หาตลาดใหม่ ครัวไทยสู่ครัวโลกต้องทำให้เกิดจริง "ไหม" อัดไพ่ในมือรบ.ไม่ใหญ่เบิ้มจนมะกันสน อ้างทำลายมิตร ส่งอุยกูร์-จับนักวิชาการ ยุกู้เพิ่มปรับโครงสร้างศก. “จุรินทร์” จี้หามาตรการช่วยเกษตรกร-SME หากมีอาฟเตอร์ช็อก โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เซ็นล่วงหน้า เตือนเอาข้าวโพดไปต่อรอง ล้มเหลวจะทำอย่างไรกับGDP 3% ที่วาง ชี้สงครามการค้าภาคพิสดาร แบ่งโลกเป็น 4 ภาค ถามไทยอยู่ส่วนไหน

วันนี้ (9 เม.ย. 2568 ) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม วาระการพิจารณาญัตติด่วน  เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาผลกระทบและมาตรการรับมือจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา โดยมี สส. จำนวน 10 คนที่เสนอ ลุกขึ้นกล่าวเสนอหลักการ

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอหลักการ ว่า การประกาศการที่สหรัฐฯมีมาตรการขึ้นภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา 36% ต้องยอมรับว่าเกินความคาดหมาย ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังที่สหรัฐฯขึ้นภาษีทั่วโลก เราวิเคราะห์กันว่า 1.การขึ้นภาษีเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และหวังว่า รายได้จากภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆจะทำให้สหรัฐทำงบสมดุลได้ 2.สหรัฐต้องการดึงผู้ประกอบการ ผู้ผลิตกลับไปยังสหรัฐ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ 3.ต้องการรักษาฐานการเมืองของพรรครีพับลีกัน ซึ่งสินค้าเกษตร และ การสร้างงานและรักษาอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์จึงจำเป็นต้องรักษาไว้ 4.ตอนนี้ทุกประเทศมุ่งไปสู่การเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯอาจจะมีความสุข หรือชอบที่ประเทศอื่นๆไปเจรจาด้วย

นายนพดล กล่าวว่า การที่เราทราบถึงเหตุผลการขึ้นภาษีของสหรัฐฯครั้งนี้ จะทำให้เราจ่ายยาให้ตรงกับโรค พร้อมกับยืนยัน รัฐบาลไทยรู้ปัญหาและมีแนวทางแก้ไขปัญหา โดยไม่ได้ล่าช้าอย่างที่หลายคนคิด โดยเมื่อรัฐบาลทราบว่า นายโดนัล ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ นายนพดล เสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางเจรจาไม่ชักช้า รวดเร็วและรอบคอบ ส่วนที่กล่าวหาว่า รัฐบาลไม่มีแนวทางและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งในฐานะที่เคยเป็นรมว.ต่างประเทศ และเคยเจรจาระหว่างประเทศ หลายเรื่องไม่สามารถเปิดเผยก่อนได้

สำหรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการเจรจานั้น นายนพดล กล่าวว่า การเจรจาไม่สามารถสำเร็จได้ภายในวันเดียว เพราะการเจรจามีหลายระดับต้องใช้เวลา และยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ใช้ต้อง win-win ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ นายนพดล กล่าวถึง 5 ประเด็นหลักที่รัฐบาลจะนำไปเจรจา ว่า ประเด็นแรก ไทยต้องรักษาความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนกับสหรัฐฯ ซึ่งตนเห็นด้วยกับความเป็นหุ้นส่วนในเรื่องของอาหารและอุตสาหกรรมในอนาคต ที่จะมีการนำวัตถุดิบจากสหรัฐฯและนำมาแปรรูป ประเด็นที่ 2.การลดภาษีและการลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งภาษีที่สูงมากเช่น ผลไม้ หรือ การลดข้อกีดกันทางการค้าทำให้ตลาดเปิดมากขึ้น ประเด็นที่ 3.เราต้องลดการขาดดุลระหว่างไทยกับสหรัฐฯให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ตราบใดไม่กระทบกับเศรษฐกิจของไทย โดยไทยจะมีการนำเข้าพลังงาน สินค้าเกษตร และเครื่องบินจากสหรัฐฯมากขึ้น

ประเด็นที่ 4. การตรวจสอบคัดกรองสินค้าป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้มีประมาณ 49 รายการสินค้า จะสามารถจัดการสินค้านี้ได้อย่างไร และให้สินค้าผลิตจากประเทศได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร
ประเด็นที่ 5. การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งได้ยินมาว่า จะมีการไปลงทุนในท่อแก๊ส หรือท่อน้ำมันในอลาสก้าของบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศไทย เป็นต้น ถือเป็นการแสดงความจริงใจในการที่เราไม่เอาเปรียบเขาและมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น นายนพดล กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะมีการส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ส่งออก และมีสินเชื่อให้กับผู้ส่งออกที่จะไปหาตลาดใหม่ และมีสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ นายนพดล ฝากข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่า อยากให้รัฐบาลจริงจังในการเปิดหาตลาดใหม่ และการปรับโครงสร้างการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อยากให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เช่น มหาอำนาจด้านอาหาร “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวพรรคประชาชน เสนอหลักการว่า  ผลกระทบครั้งนี้มันลึกเพราะ การประกาศขึ้นภาษีสูงสุดในรอบร้อยกว่าปี หนักหนายิ่งกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี 1929 ที่เรียกว่า Great Depression ซึ่งเริ่มมาจากการขึ้นภาษีและตอบโต้กันไปมา จนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก สินค้าถูกจากทุกทิศทุกทางจะไหลเข้ามาในประเทศไทย ส่งออกได้น้อยลง ท่องเที่ยวก็อาจน้อยลง กำลังซื้อในประเทศที่ตอนนี้ก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ก็จะย่ำแย่ไปอีก

“ สิ่งที่เราเผชิญอยู่เป็นแค่ศึกแรกเท่านั้น กระบวนการเจรจาก็ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ตอนนี้สหรัฐอเมริกาบอกว่ามีกว่า 70 ประเทศต่อคิวเข้าพบ อาจจะต้องเจอกับลูกหลงที่ประเทศไทยต้องเจอหางเลขไปด้วย มันหนักขึ้นทุกวัน ถามว่ากระทบกับเราหรือไม่ การที่เขาตอบโต้กันไปมากระทบกันแน่ เพราะเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในการผลิตสินค้าจีนเรียบร้อยแล้ว ถ้าสินค้านั้นต้องส่งไปขายที่สหรัฐก็ต้องเจอผลกระทบที่ตอบโต้กันไปมาแน่ ไม่ลดคำสั่งซื้อก็เลิกซื้อ กระทบมาถึงผู้ผลิตไทยแน่ ยอดขายหายทันที ”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่านายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ด้วยคำ 3 คำ ได้แก่ รู้เขารู้เรา เร็ว และแม่นยำ ขณะที่วันก่อนหน้านี้ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายังดูท่าที ไม่รีบ ตกลงว่าจะเร็วหรือรอ ไปตกลงกันให้เรียบร้อย พร้อมฝากถึงนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะไปคุยกับเกษตรกรอเมริกา ควรไปคุยกับเกษตรกรไทยก่อน รวมถึงหากเล็งช่องทางการร่วมลงทุนท่อก๊าซในอลาสก้า ได้หารือกับประเทศอื่นที่ใช้ช่องทางนี้แล้วหรือยัง เรื่องเครื่องบินหรืออาวุธยุทธโธปกรณ์ก็ไม่ได้อยู่ในเรื่องที่นายพิชัยแถลงเมื่อวานนี้ จึงอยากสอบถามว่าวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหรือไม่

“สิ่งที่อยู่บนโต๊ะเจรจาไพ่ที่เราจะไปคุยกับเขา มันไม่ได้ให้ความความรู้สึกถึงความ Phenomenal อย่างที่ประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ต้องการ ใหญ่เบิ้ม อัศจรรย์อย่างที่ทำต้องการ เป็นไปตามที่นายศุภวุฒิ เคยพูดไว้ ว่าเราไม่มีอะไร Phenomenal อย่างที่ทำต้องการ แถมแต้มต่อที่เคยมีก็หายไปทุกวันๆ“ น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เราส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ทำให้มิตรกลายเป็นอื่น เหตุการณ์ยังเลวร้ายไปอีกเมื่อมีการแจ้งจับนักวิชาการอาจารย์พอล แชมเบอร์ส ด้วยข้อหา มี.112 และ พ.ร.บ.คอม ถ้าผู้แทนการค้าสหรัฐ ยังรับสายไทยอยู่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ตนยังสงสัยว่า เขายังจะเจรจากับเราหลังจากนี้เรื่องนี้อยู่หรือไม่ แม้ประเทศอื่นบางประเทศไม่ได้ใช้วิธีการเชิงรุก แต่เขาก็เตรียมการอย่างตรงไปตรงมา เช่นสิงคโปร์ เกาหลีใต้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยา พยุง กระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ สิ่งสำคัญคืออยากให้รัฐบาลเร่งทำความเข้าใจกับเอกชนที่เตรียมโยกย้ายฐานการผลิตกลับไปอเมริกา

ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา เรียกร้องให้ รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะ เชื่อว่า สส.ก็เห็นด้วย ถ้าไม่ได้กู้เงินมาแจกสะเปะสะปะอย่างที่ผ่านมา ฟื้นฟูประเทศ ในระยะสั้นและระยะยาว

“ถ้าต้องการนำเงินมาเยียวยาภาคธุรกิจอุตสาหกรรม แรงงานที่ได้รับผลกระทบ กู้ได้ ถ้าท่านจะใช้งบประมาณเพื่อเดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ดิฉันคิดว่าไม่มีโอกาสไหนที่ใหญ่กว่าโอกาสนี้ ในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจฟื้นฟูประเทศ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนขอสังเกตว่าหามาตรการนี้ยังไม่ได้ผล ทรัมป์อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก โดยเฉพาะที่มีการระบุไว้ว่าหากประเทศคู่ค้าใดใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐ ประธานาธิบดีอาจพิจารณาเพิ่มหรือขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีได้อีกภายใต้คำสั่งนี้ ซึ่งเหมือนที่ทำกับจีน และหากประเทศใดยอมแก้ไขและเยียวยาให้สหรัฐ อาจพิจารณาปรับลดภาษีที่จะเก็บ ซึ่งหากจะเทียบกับ“แผ่นดินไหว”หากผู้ค้าใดใช้การตอบโต้แล้วสหรัฐเพิ่มหรือขยายขอบเขตการจะเก็บได้ตรงนี้จะถือเป็น“อาฟเตอร์ช็อก ”และอย่าคิดว่าทั้งหมดจะจบลงแค่นี้อาจจะมีอะไรตามมาอีกก็ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่นิ่งนอนใจ และติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด

นายจุรินทร์กล่าวว่าสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย หากย้อนไปดูตัวเลขในปีที่แล้ว ลำดับ1 ส่งออกของไทยคือตลาดสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 18.29% ของยอดส่งออกทั้งโลก หรือ1ใน5 และไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐเฉพาะปีที่แล้ว 1.21 แสนล้านบาท ถือว่ามีความยิ่งใหญ่และสำคัญกับเรามาก ดังนั้นเมื่อมีการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าจากไทยถึง 36% จึงมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและตัวเลขดุลการค้าของไทยมหาศาล ถ้าเราไม่สามารถเจรจาประสบความสำเร็จ ผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ1.อย่างน้อยที่สุดในภาพรวม สินค้าไทยในสหรัฐจะแพงขึ้น และแข่งขันยากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องแข่งกับประเทศที่ต้นทุนต่ำ หรือเสียภาษีต่ำกว่า และคุณภาพใกล้เคียงกัน

2.สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบใน 15 รายการมีสินค้าที่ไทยที่เป็นลำดับที่1 อยู่3  ตัวคือยางรถยนต์ ข้าวและวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวและยางรถยนต์ จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะข้าว การประกาศภาษีข้าว 36% ครั้งนี้เหมือนดาบสามที่จะเชือดคอชาวนาไทย โดยดาบหนึ่งคือข้าวนาปี ข้าวนาปังในช่วงปีที่ผ่านมาที่ราคาตกขายได้เกวียนละ 7,000 กว่าบาท เจอดาบสองคืออินเดียประกาศยกเลิกห้ามส่งออกข้าวแล้วหันมาส่งออกข้าวขาว ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวทั่วโลก โดยเฉพาะคู่แข่งคือไทยทำให้การส่งออกเรามีอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อราคาข้าว และสถนการณ์ครั้งนี้คือดาบสามเพราะไทยส่งออกข้าวไปสหรัฐเป็นลำดับ1 ปีละประมาณ 850,000 ตันขณะที่เราต้องโดนภาษี 36% แต่คู่แข่งของเราคือเวียดนามส่งออกไปสหรัฐแค่ 40,000 ตันแม้จะโดนภาษีมากกว่าไทยคือ 46% แต่ต้นทุนเขาต่ำกว่า  ขณะที่ราคาข้าวไทยยังแพงกว่าเวียดนามเกือบเท่าตัว จึงมีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าข้าวไทยจะขายในตลาดสหรัฐยากขึ้น และถือเป็นโอกาสให้เวียดนามแย่งตลาดไป

นายจุรินทร์กล่าวว่ารัฐบาลต้องเร่งการเจรจาให้ถูกทางโดยเฉพาะเมื่อเราประกาศแข่งขันว่าจะไม่เอานโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่เคยใช้มาใช้ในรัฐบาลนี้ คำถามคือแล้วจะมีการช่วยผู้ส่งออกอย่างไร และจะช่วยชาวนาอย่างไรหากราคาข้าวจะตกไปมากกว่านี้ ส่วนราคายางที่ไทยส่งยางล้อไปสหรัฐเป็นอันดับ1  หากโดนภาษี 36% จะทำให้ราคายางไทยมีราคาแพงขึ้นและขายยากขึ้น และกระทบกับเกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น เพราะตัวอย่างเห็นชัดสหรัฐเตรียมประกาศมาตรการวันที่9 เม.ย. ปรากฏว่าราคายางของไทยวันที่8 เม.ย. ตกกราวรูด และเดือนพฤษภาคมก็จะมียางออกมาอีก  หลายคนกังวลว่าราคาจะต้องลงไปอีก ดังนั้นต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหากไปลงเรือวันที่9 เม.ย. ภาษีมีการเปลี่ยนแปลงจะทำอย่างไร กระทบการส่งออกหรือไม่ ลูกค้าที่สหรัฐจะชะลอการส่งมอบหรือไม่ และหาเหตุยกเลิกสัญญาหรือไม่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทราบและกรุณาเร่งช่วยหาทางคลี่คลายโดยเร็ว  

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเอาข้าวโพดไปต่อรองให้มีการนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งต้องกระทบราคาข้าวโพดในไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นต้องดูแลให้ดีว่าจะนำเข้าเวลาไหน อย่างไร ที่ให้กระทบเกษตรกรน้อยที่สุด หรือไม่กระทบเลย  กรณีเนื้อหมู สมัยตนเป็นรมว.พาณิย์ได้เจรจากับUHTR หรือผู้แทนการค้าสหรัฐหลายครั้ง แต่ไม่สามารถนำเข้าเนื้อหมูได้เพราะปัญหาสารเร่งเนื้อแดง หากจะเอาไปแลกให้นำเข้าได้รัฐบาลต้องมีคำตอบว่าด้วยเหตุผลอะไร อย่างไร และจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับอย่างไร

นอกจากนี้SME ที่ที่จะส่งออกสหรัฐมีการประเมินชัดว่า ปี 68 จะกระทบ 38,300 ล้านบาท และภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคในปี 68 รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะทำGDP ไม่น้อยกว่า 3% วันที่ทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้การค้า นายกรัฐมนตรีบอกว่า ไม่กระทบ และเตรียมมาตรการทั้งหมดไว้แล้ว ซึ่งนายกฯอาจจะมองในภาพบวกแต่มันสวนทางกับทุกสำนักทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบไม่ต่ำกว่า1% ถึง 2% แปลว่าหากเจรจาไม่สำเร็จโอกาสที่จะโต 3% จะลดลงมาเหลือ 1% หรือดีสุดไม่เกิน 2%  จึงถือเป็นการบ้านและความท้าทายความสามารถ และฝีมือการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาล ว่าถ้ายังยืนยัน 3% อะไรคือคำตอบว่าจะทำได้ นอกจากแจกเงินหมื่นบาท ที่ซึ่งวันนี้มีความชัดแล้วว่าพายุไม่ได้หมุนอย่างที่คิด หรือกาสิโนที่รัฐบาลก็ยกธงขาวชั่วคราวไปแล้ว เพราะไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจคุณธรรม  ดังนั้นมาตรการอื่นคืออะไร ที่จะทำให้โต 3% ได้ ตนเชื่อว่าคนไทยอยากทราบ และผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคนรวมทั้งเอกชนและทุกฝ่ายก็อยากจะทราบ

นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับบางมาตรการที่รัฐบาลเตรียมไว้สำหรับบรรเทาผลกระทบตัวเลขการส่งออก เช่นการเร่งเจรจาFTA การส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ มาตรการเยียวยาต่างๆ แต่รัฐบาลต้องรับทราบด้วยFTA ที่รัฐบาลหวังเช่นFTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่คาดว่าจะเจรจาให้เสร็จในปลายปีหากเสร็จจริงก็ไม่ได้แปลว่าสามารถบังคับใช้ได้เลย เพราะต้องให้ 27 ประเทศสหภาพยุโรปให้สัตยาบัน และเราก็ต้องลงสัตยาบันอีก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะหน้าที่อยากเห็นในการแก้ปัญหาขณะนี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตให้ได้ 3%  และFTA อาเซียน-แคนาดา ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน ส่วนการเปิดตลาดใหม่ตนเห็นด้วยว่าต้องทำ แต่ความท้าทายคือเศรษฐกิจทั้งโลกจะตกหมดแม้แต่สหรัฐเอง ติดลบลงมาหรือไม่ก็ชะลอตัว ดังนั้นโอกาสที่เราจะหาตลาดใหม่มันยากขึ้นเป็นสองเท่า แต่ไม่ได้แปลว่าให้ยกเลิกความคิดนี้ ตนสนับสนุนให้ทำแต่ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงอีกอย่างว่า ขณะที่เราตั้งใจไปบุกตลาดเขา เขาก็มาบุกตลาดเราเหมือนกัน เพราะทุกคนเจอสภาพเดียวกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ที่วันนี้ส่งสินค้ามาตีตลาดไทยหนักมาก ทำให้เราเสียสมดุลการค้า รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหารับมือกับสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตามนายจุรินทร์ยังฝากไปถึงคณะเจรจาว่า เรื่องสินค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตกลงภายใต้ภาษีเดิม แต่กำหนดส่งมอบหลังวันที่9 เม.ย. จะช่วยเจรจาอย่างไรเพราะมีตัวเลขเบื้องต้นคร่าวๆว่าคิวสอง เดือนเมษายน-มิถุนายน 68 มีสินค้ามากกว่า 50% อาจถูกชะลอการนำเข้าเพื่อรอความชัดเจนจากการเจรจา ซึ่งแปลว่ายิ่งช้าเราจะยิ่งได้รับผลกระทบไปทุกส่วน และการประกาศหันมาใช้ มาตรการการค้าแบบทวิภาคีของทรัมป์อาศัยอำนาจการซื้อที่เหนือกว่ากำหนดกติกาฝ่ายเดียว และเป็นการท้าทายกติกาการค้าแบบพหุภาคีที่ทั้งโลกยืนหยัดร่วมกันมานาน

”ผลจากสงครามการค้าภาคพิสดารครั้งนี้ มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญแบ่งโลกออกเป็น4 ฝ่าย คือ 1. สหรัฐกับพันธมิตร 2 จีนกับพันธมิตร 3 .สหภาพยุโรปกับพันธมิตร และ4 ประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด คำถามของผมคือประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหน อย่างไร เพื่อให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้นเช่นในปัจจุบัน หากรัฐบาลมีคำตอบแล้วก็พออุ่นใจ แต่ถ้ายังไม่มีคำตอบรัฐบาลต้องรีบหาคำตอบอย่างน้อยที่สุด เพื่อให้เราทุกคนได้นอนตาหลับ และฝากความหวังไว้กับรัฐบาลได้“ นายจุรินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น