ศาลรธน. มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องรัฐสภา ปมถามเกี่ยวกับวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีมติเสียงข้างมาก 5:3 รับคำร้องวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในญัตติ “เปรมศักดิ-วิสุทธิ์”
วันนี้ (9 เม.ย.68) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภา ตามข้อ 1 ที่ได้ถามเกี่ยวกับวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจำนวนการทำประชามติ ด้วยไม่ปรากฏว่าเป็นญัตติที่มีการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งข้อ1 รัฐสภาได้ถามเกี่ยวกับวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจำนวนการทำประชามติ
และมีมติ เสียงข้างมาก 5:3 รับคำร้อง ของประธานรัฐสภา ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งเป็นคำร้องในญัตติด่วนของนายเปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. พรรคเพื่อไทย
เนื่องจากเมื่อ ศาลฯได้พิจารณาตามข้อเท็จจริง เอกสารประกอบคำร้อง สำเนาการประชุม แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 68ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และมีมติโดยเสียงข้างมากให้ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ สมาชิกรัฐสภาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีจึงเป็นปัญหา ซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาศาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลกำหนด ยื่นศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาล
โดยมติเสียงข้างมากที่รับพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา 5 คน ประกอบไปด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,นายวิรุฬห์ แสงเทียน,นายจิรนิติ หะวานนท์,นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ สำหรับเสียงข้างน้อย 3 คน ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน,นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ส่วนนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และเคยให้ถ้อยคำหรือให้ความเห็นในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยที่4/2564 โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต