xs
xsm
sm
md
lg

‘นักวิชาการ’ ค้านปลุกผี O-NET เพื่อเข้า TCAS เมินจัด Rankings การศึกษาไทย ชี้ แค่รู้หนังสือไม่พอ ต้องคิดวิเคราะห์ได้ด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยรื้อฟื้น O-NET มาใช้เข้า TCAS เหตุทับซ้อนกับคะแนนตัวอื่น ยิ่งเพิ่มภาระให้ผู้เรียน เผยคนไทยรู้หนังสือเพิ่มเป็นเรื่องดี แต่ยังพบเด็ก ป.4-ป.5 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ระบุถ้าไม่มีทักษะคิดวิเคราะห์ก็ไม่รอด ยกตัวอย่างมหา’ลัยดัง ออกจากระบบ Rankings เพราะตัวชี้วัดไม่สอดคล้องกับบริบทความจริง

จากกรณีที่ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) แถลงผลสำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทย ปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 98.83 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 94 ส่งผลให้อันดับการรู้หนังสือของไทยขยับขึ้นเป็นที่ 1 ของอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 37 ของโลก

รศ. ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สถิติการอ่านออกเขียนได้ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องดี แต่นั่นอาจยังไม่ใช่เป้าหมายหลักของการพัฒนาระบบการศึกษา เพราะการอ่านออกเขียนได้ไม่ได้หมายถึงทักษะการเรียนรู้ที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเรียนรู้ที่จะสอดรับกับสมรรถนะของศตวรรษที่ 21 จะต้องเพิ่มความสามารถในเรื่องการคิดวิเคราะห์เข้าไปด้วย

“เวลาพูดถึง literacy (ความรอบรู้) ย่อมไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ เพราะการอ่านออกเขียนได้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ใช้ชีวิตหรืออยู่รอดในโลกอนาคตได้ มากไปกว่านั้นคือคำถามที่ว่า ในความจริงแล้วคนไทยอ่านออกเขียนได้ถึง 98.83% จริงหรือไม่ ส่วนตัวไม่ได้เก็บข้อมูลเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เจอบ่อยเวลาเข้าไปทำโครงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก คือมักจะพบเด็กกลุ่มหนึ่งอยู่เสมอ ที่อยู่ในชั้น ป.3-ป.4 แต่ก็ยังอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เจอตรงหน้าจริงๆ” รศ. ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าว

รศ. ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าวต่อไปถึงกรณีการจัดอันดับคุณภาพระบบการศึกษาระดับโลก ประจำปี 2024 โดย World Population Review ที่ให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 107 ของโลก และอันดับที่ 8 ของอาเซียน ว่า ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สังคมจะต้องถกเถียงกันในเรื่อง Rankings ว่าไทยจะอยู่ในลำดับที่เท่าไร และส่วนตัวไม่ค่อยสมาทานเรื่อง Rankings เพราะพบว่าตัวชี้วัดในการจัด Rankings ซึ่งเอกชนเป็นผู้จัดอันดับ แทบไม่ได้พูดถึงคุณภาพของการสอนเลย ส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักที่ผลงานของอาจารย์ซึ่งอาจไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้เรียนและสังคมมากนัก ที่สำคัญคือตัวชี้วัดที่เหมือนๆ กันอาจไม่ครอบคลุมความหลากหลายของพันธกิจแต่ละคณะ

มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยของไทยในวันนี้พยายามวิ่งตาม Rankings ขณะที่มหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง ได้เริ่มทยอยถอนตัวออกจากระบบ Rankings ไปแล้ว เช่น Law School มหาวิทยาลัย (Harvard University) มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ในฝั่งยุโรป เช่น มหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) มหาวิทยาลัยยูเทรกต์ (Utrecht University) และฝั่งเอเซีย เช่น มหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University of China)

“มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ข้างต้นค่อนข้างมีชื่อเสียงด้วยคุณภาพของเขาเอง และที่สำคัญเขาไม่เชื่อว่าตัวชี้วัดที่ผู้จัดอันดับเหล่านี้ตั้งขึ้นมาจะสะท้อนคุณภาพการศึกษาของเขาได้อย่างแม่นยำ เขาจะตั้งตัวชี้วัดและวิสัยทัศน์ขึ้นมาเอง ออกแบบวิธีการกำกับดูแล ซึ่งเขาสามารถดีไซน์ได้เต็มที่ เพราะเขารู้ว่าธรรมชาติภายในมหาวิทยาลัยของเขาเป็นอย่างไร จุดเด่นของแต่ละคณะคืออะไร ซึ่งแต่ละคณะก็อาจจะมีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันได้ด้วย” รศ. ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าว

รศ. ดร.ฐิติกาญจน์ ยังกล่าวอีกว่า ไม่ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับการศึกษาเป็นที่เท่าไร หรือมีตัวเลขผู้อ่านออกเขียนได้มากน้อยเพียงใด ที่สุดแล้วข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือการศึกษาของประเทศไทยยังมีปัญหา 3 เรื่องที่ควรได้รับการแก้ไข ประกอบด้วย 1. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กขนาดใหญ่ที่แตกต่างกัน จากการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง ยิ่งทำให้เด็กมีโอกาสทางการศึกษาต่างกัน 2. วัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียน ส่งผลสู่ความกลัวต่างๆ อันเป็นข้อจำกัดของการบ่มเพาะการเรียนรู้ทั้งกับตัวเด็ก ครู และผู้บริหาร 3. การนำเข้ารูปแบบนโยบายการศึกษาจากต่างประเทศมาแบบตัดแปะ เช่น นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเวลารู้ PLC หลักสูตรฐานสมรรถนะ ฯลฯ ซึ่งแนวคิดต้นฉบับดี แต่การที่นำเข้ามาจะต้องวิเคราะห์ว่ามีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศหรือไม่ และจะปรับใช้อย่างไร จะวางแผนอย่างเป็นระบบอย่างไรเพื่อรองรับการใช้งาน มิเช่นนั้นจะยิ่งเป็นการสร้างผลกระทบให้กับครูผู้สอนและไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริงต่อผู้เรียน

เมื่อถามถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวคิดนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต (O-NET) กลับมาใช้เพื่อเข้า TCAS อีกครั้ง รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าวว่า การพยายามแก้ปัญหาคนมีแรงจูงใจในการสอบ O-NET น้อย อยากให้คนไปสอบเยอะขึ้น โดยใช้วิธีมัดมือชกนักเรียนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยภายใต้ระบบ TCAS ให้ใช้คะแนนนี้ เป็นการแก้ปัญาหาที่ไม่ค่อยถูกจุด หากผู้ออกแบบนโยบายเห็นว่าระบบการศึกษามีปัญหาตรงไหน ก็ควรจะกลับไปแก้ที่จุดนั้น ซึ่งรายละเอียดของปัญหาก็มีอยู่มาก ผลการสอบ O-NET เป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดของปัญหาเหล่านั้นที่อยู่ปลายทางมากๆ

“ในวันนี้ ผู้เรียนต้องแบกรับภาระในการสอบวิชาต่าง ๆ เช่น A-Level TGAT TPAT ของ TCAS อยู่แล้ว หากจะมีการนำเอาผลคะแนนการสอบ O-NET เข้ามาอีก ก็จะเกิดความทับซ้อนกันและเพิ่มภาระให้กับผู้เรียน และที่สำคัญเลยคือ เราเพิ่งเปลี่ยนเอา O-NET ออกไปเอง จะเปลี่ยนอีกแล้วหรอ เวลาที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไร เราจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนด้วย ต้องให้เขาได้มีเวลาวางแผนเตรียมตัวอย่างน้อยก็ 3 ปี” รศ. ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าว

รศ. ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนที่ดีว่า ไม่ควรโฟกัสว่าผู้เรียนจะได้เรียนอะไร แต่ควรโฟกัสว่าผู้เรียนจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตามปกติหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีจะเป็นการเรียนแบบค่อยๆ ไต่ระดับ เริ่มต้นจากการบ่มเพาะองค์ความรู้ในห้องเรียน แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากของเนื้อหา ก่อนที่จะออกไปสู่โลกภายนอก หรือการฝึกงานในชั้นปีที่ 4 แต่การออกแบบหลักสูตรกลับหัวกลับหางที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ใช้ คือ ให้ชั้นปีที่ 2 เป็นปีแห่งการเจอสังคม เจอองค์กร เจอโลกข้างนอกเยอะๆ แล้วค่อยกลับมาถอดองค์ความรู้ เชื่อมโยงกับทฤษฎีในชั้นปีที่ 3 โดยเชื่อว่าถ้าเขามีประสบการณ์ตรงแล้ว เขาจะเชื่อมโยงทฤษฎีได้ฝังลึกกว่า จากนั้นค่อยกลับออกไปข้างนอกอีกครั้งตอนปี 4 ซึ่งทำให้เขามีประสบการณ์ มีคอนเน็กชัน และมีโอกาสได้งานสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น