ข่าวปนคน คนปนข่าว
++ ดูออกแหละ! "พีระพันธุ์" ทำคอนเทนต์หล่อๆ รับสมาพันธ์ฯ อวยแหลก
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว คนแตกตื่นมองหน้ากันเลิ่กลั่ก ถามกันให้ควั่กว่าเกิดอะไรขึ้น !?
ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อก แต่เพราะมีคนแปลกหน้ากลุ่มใหญ่เดินตบเท้ามาหา"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาต้อนรับด้วยตนเอง
ฟังว่า คนกลุ่มใหญ่เหล่านี้เป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือให้กับพีระพันธุ์
ทั้งผู้ยื่น และรมว.ผู้มารับ น่าจะนัดแนะกันไว้ก่อนหน้าชัวร์ ซึ่งก็น่าแปลกใจตามมาว่า ทำไมไม่นัดยื่นที่ "บ้านพิบูลธรรม"ที่ทำงานของ “พีระพันธุ์” !?
พอเห็นเนื้อหาสาระหนังสือของกลุ่มผู้ร้องก็ถึงบางอ้อ!
เพราะงานนี้ต้องการแสดงออกเชิง "สัญลักษณ์" มากกว่าเอาการเอางาน
หรือภาษาชาวโซเชียลฯ เขาเรียกว่า "สร้างคอนเทนต์" นั่นละ
ส่วนใครได้แสง ได้แสดงบทถนัดเป็นใครจากคอนเทนต์นี้ ก็คงจะพอเดากันได้ไม่ยาก
ในหนังสือของผู้มาร้อง ระบุว่า เพื่อขอให้ รมว.พลังงาน ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัทในกลุ่มปตท. โดยอ้างว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าบุคคลบางรายที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางรายมีประวัติเกี่ยวข้องกับบริษัทด้านพลังงาน ซึ่งอาจขัดกันแห่งผลประโยชน์
และสอง ตั้งคำถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถลดราคาไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซได้ ทั้งที่มีความพยายามจากกระทรวงพลังงาน ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
เหตุและผลในการเคลื่อนไหวในเรื่องแรก ฟังแล้วก็อึ้งๆ งงๆ เพราะทั้ง สองสมาพันธ์ฯ ไม่มี ปตท.หรือ กฟผ. และเห็นว่าก็ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแรงงาน แล้วมาเกี่ยวข้องอะไรกับบอร์ดปตท.
แม้แต่ตัวของ “รมว.พีระพันธุ์” พูดกับคนมายื่นก็ยอมรับ ไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปแทรกแซง! ว่าแล้วก็วกเข้าโหมดให้คำแนะนำสองสมาพันธ์ฯ ผลักดันให้รัฐแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชนแบบหล่อๆ
งานนี้มีคำถามขึ้นมา ทั้งผู้มายื่น และผู้ยื่น น่าจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติตัวเอง และของกันและกันก่อนมั้ย!
ส่วนเรื่องที่สอง เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีเพิ่ง"ปล่อยคอนเทนต์" บอกครม.อนุมัติลดค่าไฟฟ้าทั้งที่ ครม.แค่รับทราบ เล่นเอาทำเนียบฯ ต้องออกมาแก้ข่าวกันวุ่น
งานนี้ก็เลยมาออกมาแนวตั้งคำถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถลดราคาไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซได้ ทั้งที่มีความพยายามจากกระทรวงพลังงาน ตามคาดในเชิงตอกย้ำภาพ รมว.ผู้มุ่งมั่น แต่ติดที่รัฐบาลไม่ทำตาม
สรุปว่า สองสมาพันธ์ฯ เคลื่อนไหวเป็นเชิงสัญลักษณ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ “รมว.พีระพันธุ์” อวยแหลก แจกคำหวาน โดยที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ และ คาดหวังผลอะไรกับคอนเทนต์นี้ เกี่ยวข้องอะไรกับ "เกมการเมือง" หรือไม่ ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป
เพราะคอนเทนต์ในซีรีส์นี้ คงยังจะไม่จบเพียงเท่านี้ โดยสองสมาพันธ์ฯยืนยันว่า จะติดตามทั้งสองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
แน่นอนว่า “พีระพันธ์” ยืนยิ้มอ่อนๆ อยู่ด้านหลัง จากการเข้ากระทรวงที่นานๆ มาครั้ง เจ้าตัวก็เชื่อว่าคุ้ม ได้ทั้ง “คอนเทนต์” และ “เพิ่มเรตติ้ง” ไปพร้อมๆ กัน
แถมเลศนัยลึกๆ จากหมากเกมนี้ ยังแอบหวังจะช่วยยึดโยงขาเก้าอี้ตำแหน่งรัฐมนตรี ที่แม้ไม่มีแผ่นดินไหวก็มีกระแสข่าวว่าโยกคลอนอย่างแรง เพราะไม่มีผลงานนั้นให้มั่นคงขึ้นบ้างก็ยังดีหรือเปล่า!?...อันนี้ก็ไม่รู้นะว่าเจ้าตัวจะรู้หรือไม่ คนการเมืองเขาดูออกแหละ!
++ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม นายกฯอิ๊งค์ ว่าไม่รีบ แต่พรรคเพื่อไทยเร่ง !
สัปดาห์นี้ เหลือเวลาการประชุมสภาอีกแค่ 2 วัน คือวันที่ 9-10 เม.ย. หลังจากนั้นก็จะปิดสมัยประชุม
ชัดเจนแล้วว่า ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ได้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรก ของวันที่ 9 เม.ย. และทางวิปรัฐบาล ตั้งใจว่าจะผลักดันให้ผ่านวาระรับหลักการในวันเดียว จากนั้นก็จะเป็นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อเนื่องไปเลย โดยมีเวลาวันที่ 10 เม.ย. อีก1 วัน เผื่อเหลือ เผื่อขาด
จะว่าไปแล้ว ร่างกฎหมายทั้งสองเรื่อง ล้วนเป็นวาระเร่งด่วนของ “นายใหญ่”!!
เรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือ “กาสิโนคอมเพล็กซ์” นั้น ไม่ใช่นโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง ไม่ใช่นโยบายที่แถลงต่อสภา แต่เริ่มมาจากการแสดงวิสัยทัศน์ของ“นายใหญ่” แล้วรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โดยพรรคเพื่อไทย นำมาผลักดัน ภายใต้ข้ออ้างดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่คนการเมืองต่างรู้ทันว่า นั่นเป็นช่องทางทำเงิน ขายใบอนุญาต เอื้อพวกพ้อง สะสมเสบียงกรัง สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า!!
ส่วนเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น เป็นที่รู้กันว่า ตอนนี้ นายใหญ่ ก็ “ติดบ่วง112” อยู่ หากมีกฎหมายนิรโทษกรรม ก็เท่ากับได้ปลดล็อกโดยอัตโนมัติ
ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมฯ ที่เสนอเข้าสภา และได้รับการบรรจุในวาระเพื่อพิจารณา มีทั้งหมด 4 ฉบับ
1. ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ.…นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติและคณะเป็นผู้เสนอ
2. ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ.…นายปรีดา บุญเพลิง อดีต ส.ส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม กับคณะเป็นผู้เสนอ
3. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ.… นายชัยธวัช ตุลาธน จากพรรคก้าวไกลเดิมและคณะเป็นผู้เสนอ ปัจจุบัน ส.ส.ที่ร่วมกันลงชื่อคือ ส.ส.พรรคประชาชน
4. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ.… (นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน เป็นผู้เสนอ)
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ฉบับแรก มีเนื้อหาสำคัญคือ ไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112
แต่ 2 ฉบับหลัง คือ ร่างของพรรคก้าวไกลเดิม ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้นิรโทษกรรมคดี112 ในทางกฎหมายทำให้มีการตีความว่า สามารถนิรโทษกรรมคดี 112 ได้ด้วย
ขณะที่ ร่างสุดท้ายที่เป็น ร่าง ของภาคประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ร่วมกันลงชื่อเสนอเข้าสภาฯ นั้น เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้นิรโทษกรรมทุกข้อหาที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ในคดีต่างๆ เช่น คดีตามประกาศและคำสั่ง คสช และ คำสั่งหัวหน้าคสช.- คดีพลเรือนในศาลทหาร - คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112- คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ - คดี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เป็นต้น
“วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล บอกว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เสนอร่าง นิรโทษกรรม ของพรรคเข้ามาประกบ เพราะ 4 ร่างที่มีอยู่ ก็เพียงพอแล้ว เนื้อหาก็ครอบคลุมที่จะทำให้ประเทศเกิดความสันติสุขได้
จึงอยากให้ที่ประชุม พิจารณารับหลักการวาระแรกให้จบสมัยประชุมนี้ คือ ภายในวันที่10 เม.ย.68 เพื่อให้ช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ จะสามารถไปพิจารณาต่อในชั้น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ต่อได้ เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะทำให้ประเทศเกิดความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งโดยเร็ว
ก็ต้องติดตามดูว่า ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 4 ฉบับ จะถูกมัดรวมแล้วพิจารณาไปพร้อมกันหรือไม่
เช่นเดียวกัน ในการลงมติเห็นชอบวาระแรก ต้องดูว่า ประธานในที่ประชุม จะมีการสอบถามส.ส.ในที่ประชุมว่า จะการลงมติอย่างไร จะให้ลงมติให้ความเห็นชอบพร้อมกันหมดทั้ง 4 ฉบับ หรือ จะให้ลงมติแยกทีละฉบับ
ถ้าโหวตแบบมัดรวมกัน แล้วที่ประชุมให้ผ่านวาระรับหลักการ นั่นหมายความว่า ยอมรับเรื่องนิรโทษกรรม คดี 112 ด้วย จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมาธิการไปพิจารณา ตรวจรายละเอียด ปรับแก้ถ้อยคำ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3
แต่ถ้าแยกโหวตที่ละฉบับ ก็ต้องติดตามดูว่า ใน 4 ฉบับนี้ ฉบับไหนได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการบ้าง ฉบับไหนที่ตกไป
แม้ที่ผ่านมา บรรดาแกนนำของพรรคเพื่อไทยจะบอกว่าพรรคมีจุดยืน ไม่นิรโทษกรรมคดี112 แต่นั่นเป็นการออกมาสร้างกระแสในแบบ “ลับ ลวง พราง” หรือไม่ เพราะเห็นกันอยู่ว่า ถ้ามีนิรโทษกรรมคดี 112 “นายใหญ่” ของพวกเขาก็ได้รับอานิสงส์ด้วย
โดยเฉพาะการบรรจุ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าอยู่ในวาระการพิจารณาตามหลัง ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่กระแสสังคมกำลังให้ความสนใจ คัดค้าน จนอาจทำให้ลืมนึกถึงสิ่งที่หมกเม็ดอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ได้
ต้องติดตามว่า วันที่10 เม.ย.นี้ ที่ประชุมสภาจะ “ทิ้งทวน” ก่อนปิดสมัยประชุม ด้วยการรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แบบนิรโทษคดี 112 ด้วยหรือไม่