“ทวี” มั่นใจ หลังดีเอสไอรับปมตึก สตง.ถล่มเป็นคดีพิเศษ ไม่ปล่อยแน่หากผู้มีอิทธิพลเอี่ยว บ.ไชน่าเรลเวย์ ประสาน ตม.บล็อกเส้นทางคนผิดหนีออกนอกประเทศแล้ว ยันทำคดีเร็วบนพยานหลักฐาน แต่ยอมรับยังขาดการบูรณาการทางกฎหมาย
วันนี้ (4 เม.ย.) เวลา 10.40 น. ที่รัฐสภา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับสอบสวนคดีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ว่า เมื่อรับเรื่องมาเป็นคดีพิเศษแล้ว ถ้ารู้ที่อยู่ จะต้องมีการติดตาม ซึ่งในช่วงเช้าวันนี้ (4 เม.ย.) ยังบอกว่าอาจจะต้องประสานงานกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อตรวจสอบการเดินทางเข้า-ออกประเทศด้วย ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีผู้ที่มีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้รับเหมา และนอมินี ก่อสร้างอาคาร สตง. จะสามารถสืบสวนไปถึงตัวได้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐบาลนี้โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม นอกจากแก้ไขปัญหา อาชญากรรม ยาเสพติดแล้ว เรายังดำเนินการกับผู้มีอิทธิพล โดยเฉพาะกฎหมายสอบสำนวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการ จัดการกับผู้มีอิทธิพลอยู่แล้ว ไม่มีใครอยู่ในกฎหมาย หากพยานหลักฐานไปถึง ก็ต้องดำเนินการ และเมื่อเช้าที่ผ่านมา ยังได้รับฟังข้อมูลจากพนักงานสอบสวนที่เสนอมา ก็ถือว่ารอบคอบ
สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินงานนั้น รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นคดีที่มีความสูญเสียมาก ดังนั้น ความรวดเร็ว ที่ยืนอยู่ที่พยานหลักฐาน เป็นเรื่องที่จะสร้างความพึงพอใจ จึงได้พยายามให้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีคนไทยที่มีชื่อเกี่ยวข้องก็ได้มีการดำเนินการแล้ว
เมื่อถามว่า ทราบว่า บริษัทดังกล่าวรับงานภาครัฐไปจำนวนมาก จะทำให้การสอบสวนชะงักหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตอนนี้เราทำเฉพาะในเรื่องของตึก สตง.ก่อน ส่วนอื่นเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการ ทั้งนี้ ได้มีการสอบถามถึงหลักฐานทางทะเบียน ของบริษัทกิจการร่วมค้า ปรากฏว่า กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ไม่ได้รับผิดชอบ จะรับผิดชอบเฉพาะบริษัทนิติบุคคล ตามที่กฎหมายแพ่งกำหนด ดังนั้น ข้อมูลจึงไปอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่กระทรวงการคลังก็ไม่ได้ทำทะเบียนไว้ เราจึงต้องไปไล่ตามสรรพากรต่างๆ เวลาที่มีการเสียภาษี ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่น่าจะมีคนรับผิดชอบ โดยอาจจะเพิ่มงานให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดู
“อย่างน้อยเชื่อว่า น่าจะมี 2-3 บริษัทร่วมทุนกัน โดยในส่วนของบริษัทต่างด้าว กระทรวงพาณิชย์ก็ดูอยู่แล้ว และที่สำคัญ เมื่อไปอ่านสัญญาบางครั้งอาจมีช่องว่าง ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายดีๆ เยอะ แต่เวลาใช้กลับใช้เป็นส่วนๆ ขาดการบูรณาการเท่าที่ควร เหมือนเป็นอาณานิคมของกฎหมายหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ดังนั้น ดีเอสไอจึงต้องประสานงานกัน แม้แต่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการเข้าไปสู่เนื้องาน เช่น พยานหลักฐานที่ต้องไปเก็บจะทำอย่างไร การช่วยเหลือชีวิตถือเป็นอันดับแรก แต่หากเราปล่อยให้วัตถุพยานถล่มลงไปเลย เราก็จะไม่มีพยานหลักฐานไปยืนยัน ดังนั้น ขอให้ไปประสานและพยายามเก็บวัตถุพยานให้ได้มากที่สุด จึงทำให้พนักงานสอบสวนต้องประสานกับนิติวิทยาศาสตร์ และวิศวกรต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไปช่วยชีวิตน่าจะบันทึกภาพเอาไว้ให้ด้วย” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีของบริษัท ไช่น่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 มีลักษณะการใช้นอมินี รับโครงการอื่นของรัฐ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบและและพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า มีหน่วยงานที่เราคงต้องเอาข้อมูลไปให้ เช่น ในเบื้องต้นที่ตรวจจากสรรพากร พบว่า เขาไปทำกิจกรรมร่วมค้า 29 โครงการ มูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่เราจะโฟกัสไปในเคสของเราก่อน ส่วนกรณีอื่นต้องส่งไปให้ภาครัฐได้ดู เพราะเวลาเราทำคดีต้องทำเป็นคดีไป
ส่วนที่สังคมมีความเป็นห่วงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม จะหลบหนีไปต่างประเทศ ว่า หน้าที่ของพนักงานสอบสวน นอกจากแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และความผิดแล้ว ยังต้องมีหน้าที่สำคัญ คือ นำตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เวลาจะทำอะไรจะดูทุกเรื่องเพราะมีสำนักสืบสวนสะกดรอยอยู่