เครือข่ายภาคประชาชน 100 องค์กร ยื่น “วันนอร์-เท้ง” จี้ สส.-พรรคการเมือง ค้านพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร อัดรัฐบาลรีบร้อน อาศัยจังหวะสังคมเดือดร้อนจากภัยพิบัติ เล่นทีเผลอ พูดอย่างทำอย่าง พร้อมเสนอสอบจริยธรรม “อุ๊งอิ๊ง-พิชัย-จุลพันธ์” ฐานไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ขณะที่ “ณัฐพงษ์” ติงควรเปิดรับฟังความเห็นรอบด้าน เตือนชาติกำลังวิกฤตสุมไฟโกรธให้ ปชช.
วันนี้ (2 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 100 องค์กร นำโดย นายธนากร คมกฤศ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ยื่นหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้ สส. ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่รัฐบาลส่งมายังสภาฯบรรจุระเบียบวาระ
นายธนากร กล่าวว่า จากที่รัฐบาลพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยอาการรีบร้อนเร่งรัดจนผิดสังเกต เล่นทีเผลอในยามที่สังคมกำลังเดือดร้อนจากแผ่นดินไหว และต้องการปลอบขวัญกำลังใจ แต่รัฐบาลกลับไม่ยี่หระ ตัดสินใจทำสิ่งที่ฝืนกระแสคัดค้านของสังคม เหมือนไม่รู้ว่าเรื่องใดสำคัญและควรทำอะไรก่อนหลัง การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ อ้างอย่างหนึ่งกระทำอย่างหนึ่ง เสนอหลักการในกฎหมายข้างๆคูๆ ว่า จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มนุษยสร้างขึ้น แต่กลับบังคับให้มีกาสิโนอย่างปฏิเสธไม่ได้ พยายามสร้างวาทกรรมลวงให้ประชาชนเบาใจและหลงกล ผลักดันโดยไม่มีความรับผิดชอบเพราะไม่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นการเห็นแก่ได้ คำนึงถึงแต่เรื่องรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างอับจนปัญญาที่จะหาวิธีอื่นที่สร้างสรรค์ ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาในอนาคต
“จึงขอเรียกร้องรัฐสภา และพรรคการเมืองทุกพรรคในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบทบาทสำคัญต่อการถ่วงดุลอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาล ใช้อำนาจนี้อย่างเหมาะสมด้วยการปฏิเสธรับร่าง พ.ร.บ.นี้ เข้าสู่การพิจารณา และเรียกร้องให้ฝ่ายค้านดำเนินการทุกวิถีทางที่จะยับยั้งร่างกฎหมายที่ไม่เป็นคุณต่อสังคมและประเทศชาติฉบับนี้ การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ควรตัดสินใจอย่างรีบร้อนและควรทำอย่างรอบคอบ ด้วยการกลัดกระดุมทีละเม็ด เดินทีละก้าวอย่างรัดกุมและตัดสินใจโดยไม่ลุแก่อำนาจและผลประโยชน์ อยากให้พรรคประชาชนเสนอให้มีการทำประชามติ ให้ประชาชนเจ้าขงประเทศเป็นผู้ตัดสินใจ” เลขาฯ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าว
รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เราขอให้มีการตรวจสอบจริยธรรม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เคยแถลงหลังการประชุม ครม.ว่า การให้มีกาสิโนเพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย แสดงว่าหนึ่งในเป้าหมายของกฎหมายนี้คือคนไทย ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่าเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ใช่คนไทย แต่ต่อมา น.ส.แพทองธารกลับบอกว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ถือว่าขัดแย้งกับตัวเอง ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่า หลักคิดของร่างกฎหมาย คือ เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย ต้องการให้คนไทยที่เล่นกาสิโนสามารถมาเล่นในเมืองไทยได้ จึงเห็นได้ว่า บุคคลทั้ง 3 ซึ่งมีหน้าที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงมีความขัดแย้งกันเอง
“จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าต้องมีใครคนใดคนหนึ่งบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทางราชการเพื่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น และหรือปกปิดหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงที่จำเป็นต้องบอกแก่ประชาชน จึงถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการเมือง พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (5) และ 6(5) เข้าข่ายไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) (5)” รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว
ด้าน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคประชาชนจะรับไปพิจารณา เพราะต้องฟังเสียงประชาชนให้มากที่สุด แม้จะมีการบรรจุในระเบียบวาระแล้วแต่ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก แต่เราก็ตั้งข้อสังเกตว่ามีการเร่งรัดผิดปกติ เพราะตามกติกาต้องมีการแจ้งระเบียบวาระเข้ามาตั้งแต่วันศุกร์ แต่ร่างนี้อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมา โดยอาศัยอำนาจประธานฝ่ายกฎหมายรัฐบาลบอกเองว่า อยากให้เสร็จก่อนปิดสมัยประชุม จึงสงสัยว่าทำไมถึงเร่งรัดกฎหมายฉบับนี้ในเมื่อนายจุลพันธ์ เองก็บอกว่าการศึกษาความเป็นไปได้ยังไม่แล้วเสร็จ ทำไมจะต้องรีบเร่ง จะเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนกังวลคือควรมีการเปิดรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน การทำประชามติเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เปิดกว้างและเป็นธรรม
เมื่อถามถึงท่าทีของพรรคประชาชน ต่อกฎหมายฉบับนี้ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราไม่เห็นด้วยก็คือการใช้อำนาจ หรือนโยบายของรัฐเอื้อต่อกลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยมาตลอด การเอาข้ออ้างเรื่องแก้ธุรกิจสีเทาในประเทศมาห่อหุ้มด้วยกฎหมายฉบับนี้ เป็นวิธีการที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมเดินทางมาคัดค้านหน้ารัฐสภาด้วย หากมีการพิจารณาในสภา จะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมหรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า รัฐบาลต้องฟังเสียงรอบด้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะขณะที่ประเทศกำลังวิกฤต ตนคิดว่าจะเพิ่มความโกรธ และไม่พอใจจากสังคมขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น และอยากให้สภาเป็นทางออกมากกว่า