xs
xsm
sm
md
lg

อาฟเตอร์ช็อก ซ้ำเติมเศรษฐกิจปากท้อง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นมีศูนย์กลางในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย และภาพที่มีอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานครสั่นไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่กำลังก่อสร้างสูงสามสิบชั้นพังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และยังสูญหายมากมาย ถือว่าสร้างผลกระทบหลายด้านตามมา ทั้งด้านจิตใจ ความรู้สึกหวาดผวา ความไม่ปลอดภัย สารพัด

เชื่อว่ายังต้องใช้เวลาสำหรับการฟื้นฟูเยียวยาให้กลับเข้าสู่สภาพเดิม หรือให้ใกล้เคียงให้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่น่าติดตามหลังจากนี้ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะมีค่อนข้างสูง

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่าน ในเบื้องต้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หลักๆ มาจากการหยุดชะงัก หรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล หัวเมืองหลักอย่างเช่น เชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งงานอีเวนต์ ร้านอาหาร ค้าปลีก การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือน จะต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้

ผลต่อภาคธุรกิจมองว่า แม้การซ่อมแซมฟื้นฟูความเสียหาย และความต้องการในการหาที่พักสำรอง จะทำให้การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ที่พักแนวราบ ได้รับอานิสงส์ แต่ผลกระทบด้านลบคงจะมีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ อีกทั้งความต้องการเช่า (ไม่ต้องการเป็นเจ้าของ) คงจะมีมากขึ้น ขณะที่จากข้อมูล REIC พบว่า จำนวนอาคารชุดสะสมรอขายในกรุงเทพฯ อยู่ที่กว่า 6.5 หมื่นหน่วย มูลค่า 3.75 แสนล้านบาท

ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้นตามความเชื่อมั่นต่อการเดินทางและการหาที่พักในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง แม้จะไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น จากเดิมก็มี Downside อยู่แล้ว หลังตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เริ่มลดต่ำลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นที่ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2568 ที่ 37.5 ล้านคน ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะถูกทบทวนปรับลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อ GDP จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ -0.06% ซึ่งทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.4% นอกเหนือจากนี้ยังรอติดตามการประกาศผลการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (Reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เมษายน นี้ หากไทยโดนภาษีในอัตรา 25% ก็จะส่งผลกระทบต่อ GDP เพิ่มเติมอีกราว -0.3%

ขณะเดียวกัน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคาดการณ์ว่าผลจากแผ่นดินไหวดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ซ้ำเติมภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลทางเศรษฐกิจและผลกระทบ เข้าที่ประชุม กนง.ในสิ้นเดือนเมษายน นี้ ส่วนเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ ชะลอตัว จากการท่องเที่ยวและบริการที่การใช้จ่ายลดลง

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่อาจก่อให้เกิดความกังวลของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยต้องดูว่าความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่อาจจะเป็นผลกระทบระยะสั้น เพราะยังไม่เห็นตัวเลขการยกเลิกการจองห้องพักเพิ่มขึ้นมาก

เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มจากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่จะมีผลตามมาหลังจากนี้ โดยเฉพาะผลกระทบระยะสั้น ที่ต้องเจอก่อน นั่นคือ ความเชื่อมั่น เช่น การท่องเที่ยวที่ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว ตัวเลขนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ก็มีจำนวนลดลงแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นผลมาจากก่อนหน้านี้ในเรื่องของผลกระทบด้านความปลอดภัย จากกรณีของนักแสดงชาวจีนคนหนึ่งถูกลักพาตัวในประเทศไทยจากพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และลุกลามบานปลายไปพักหนึ่ง

จากนั้น ล่าสุดเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้ว่าโดยรวมแล้วประเทศไทยไม่ได้เสียหายมาก บรรดาตึกสูงต่างๆ ยังมีความปลอดภัย แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลฯ ที่ไปเร็ว มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ย่อมต้องมีผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง

ขณะเดียวกัน สิ่งที่บรรดาหลายฝ่ายในประเทศไทยทั้งภาครัฐ และเอกชน กำลังหวั่นวิตกกันก็คือ มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐกับประเทศที่เกินดุลการค้า ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในราววันที่ 2 เมษายน หรือหลังจากนั้นไม่นาน กำลังออกมา ย่อมส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจกับไทยมาก ในเรื่องการส่งออก และยิ่งทำให้ฉุดเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ให้ทรุดลงไปอีก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากที่เดียว

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาหากพิจารณาไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่สำคัญคือนโยบาย “แจกเงินหมื่น” ที่ผ่านมาสองเฟสแล้ว ผลปรากฏชัดเจนว่า ไม่ได้ผล ไม่มีแรงส่งแบบพายุหมุนตามที่คาดหมายเอาไว้เลย นอกเหนือจากเรื่อง “ประชานิยม” หาเสียงแบบ “ตกเขียว” กันล่วงหน้าเท่านั้น

หากมองกันแบบที่พอมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าหลังจากนี้ ก็ต้องเตรียมรับมือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ปากท้องที่ต้องตามมาแบบเลี่ยงไม่ได้ เป็นผลต่อเนื่องจากสองเรื่องใหญ่ที่ต้องเจอ อย่างแรกเป็นผลมาจากแผ่นดินไหว ที่มีผลทางด้านจิตใจ ความเชื่อมั่น จากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะมียอดขายลำบาก และจะกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งภาคแรงงาน วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าอาจเป็นผลระยะสั้นแต่ก็ทำให้ยอดจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งจากข้อมูลตัวเลขระบุว่ามีการลดจำนวนลงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว

และที่สำคัญ อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ทางรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศขึ้นภาษี ตอบโต้ทางการค้ากับประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้า ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่คาดว่าจะถูกขึ้นภาษีนำเข้าด้วย ทำให้ยิ่งเจอปัญหาหนักหน่วงเข้าไปอีก เพราะต้องไม่ลืมว่า เรื่องการท่องเที่ยว กับ การส่งออก ถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศในเวลานี้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่แม้ว่าเป็นภัยธรรมชาติ ที่ควบคุมได้ยาก แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างผลกระทบตามมา นอกเหนือจากชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปากท้อง ที่มาแบบซ้ำซ้อนเข้ามา ถือว่าหนักหน่วงเอาการทีเดียว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น