รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวง ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 รวม 9 ฉบับ เพื่อให้สำนักงานสถิติฯ สำรวจตัวอย่างและเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่อเนื่อง ให้นำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนพัฒนา ศก.สังคม
วันนี้ (1 เม.ย.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อจัดทำสำมะโน หรือสำรวจตัวอย่าง รวม 9 ฉบับ 1. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. .... 2. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. .... 3. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. .... 4. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. .... 5. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. .... 6. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. .... 7. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. .... 8. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... และ 9. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างความพิการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎกระทรวงที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจตัวอย่างเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ภาวการณ์ทำงานของประชากร การย้ายถิ่นของประชากร อนามัยและสวัสดิการ และประชากรสูงอายุในประเทศไทย รวม 5 ฉบับ ซึ่งมีระยะเวลาการใช้บังคับ 10 ปี (กำหนดไว้ในข้อ 1 ของกฎกระทรวงแต่ละฉบับ โดยเริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558) และจะครบกำหนดภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2568) ดังนั้น เพื่อให้การสำรวจและรวบรวมข้อมูลดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ เพื่อมาใช้บังคับแทนกฎกระทรวงเดิม ดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน ทรัพย์สิน โครงการสร้างของสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะที่อยู่อาศัย การย้ายถิ่นและการส่งเงิน ตลอดจนการได้รับสวัสดิการ/ความช่วยเหลือจากรัฐ และการใช้บริการภาครัฐ
2. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและคุณลักษณะของกำลังแรงงานในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
3. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของประชากร
4. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วย การรับบริการส่งเสริมสุขภาพ การรับบริการทันตกรรม การเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายในการรับบริการด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประชากรและลักษณะของสภาพที่อยู่อาศัยของครัวเรือน
5. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุ ลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม ลักษณะการอยู่อาศัย รวมทั้งภาวะสุขภาพ และข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ
และได้เสนอร่างกฎกระทรวงใหม่ อีก 4 ฉบับ ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจและรวบรวมข้อมูล ดังนี้
5.1 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเกี่ยวกับคุณลักษณะของครัวเรือน พัฒนาการของทารก สุขภาพของแม่ พัฒนาการของเด็ก โภชนาการ การเรียนรู้ การคุ้มครองจากความรุนแรงและการแสวงหาผลประโยชน์ การอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะอาด และความเท่าเทียมทางสังคม
5.2 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหาร และการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
5.3 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะต่าง ๆ ของประชากร ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม หรือไม่ได้รับความคุ้มครองจากการทำงานตามกฎหมายแรงงาน
5.4 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างความพิการ พ.ศ. .... เป็นการสำรวจตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความพิการ ข้อมูลพื้นฐานทางประชากรและสวัสดิการจากภาครัฐ
ทั้งนี้ การออกร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการสำรวจตัวอย่างและเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ภาครัฐและเอกชนนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับ 10 ปี และร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับดังกล่าวไม่เป็นร่างกฎที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และไม่ต้องขอความยินยอมตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และ (6) มาตรา 25(2) และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) (ง) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด
ข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจตามร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กำหนดนโยบายและเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่
1) ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงสร้างของครัวเรือน เพศ อายุ การศึกษา รายได้ เป็นต้น
2) ใช้ในการวางแผนพัฒนากำลังแรงงาน ใช้เป็นตัวชี้วัดภาวะทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค และใช้ประกอบในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และโครงสร้างของรายได้ในแต่ละสาขาอาชีพ
3) ใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นเพื่อประกอบการวางแผน กำหนดนโยบาย และจัดทำแผนเกี่ยวกับการกระจายตัวและการตั้งถิ่นฐานของประชากร
4) เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลด้านสาธารณสุขของประชาชน ในการนำไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี
5) เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ สำหรับกำหนดนโยบายวางแผนดำเนินงาน รวมทั้งติดตามและประเมินผลหรือโครงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงอายุ
6) ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่าง ๆ เช่น ภาวะเตี้ย ภาวะผอมแห้ง อัตราการเข้าเรียนปฐมวัย การมีบุตรขณะที่อายุยังน้อย สัดส่วนของผู้หญิงอายุระหว่าง 20-24 ปี เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการจัดทำตัวชีวัดการพัฒนาที่ยั่งยืน
7) เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ในการนำข้อมูลที่จำเป็นไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงาน เพื่อป้องกันหรือลดอัตราการเกิดโรค
8) เพื่อประกอบการวางแผน และกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการขยายความคุ้มครอง หรือประกันสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบ ให้ได้เข้าถึงสวัสดิการ
9) เพื่อนำไปใช้วางแผนจัดสวัสดิการ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การสาธารณสุข เพื่อให้ผู้พิการได้รับการพัฒนาสมรรถภาพให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยในหลักการ